แรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทย ณ ปัจจุบัน นอกจากใช้แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และผู้เชี่ยวชาญ/บุคลากรจากต่างประเทศแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือการใช้แรงงานที่บริษัทจ้างบุคคลที่มีทักษะฝีมือจากบุคคลภายนอกหรือแรงงานเอาต์ซอร์ซเข้าไปร่วมงาน ซึ่งนับวันจะหายากขึ้น
นายวิสูตร พันธวุฒิยานนท์ นายกสมาคมผู้รับเหมาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานภาพแรงงานไทยในขณะนี้ว่า น่าเป็นห่วงแรงงานเอาต์ซอร์ซ (แรงงานที่บริษัทจ้างจากบุคคลภายนอก) คนไทย โดยเฉพาะในช่วง 5-10 ปีนับจากนี้จะหายากขึ้น เนื่องจากจะมีแรงงานจำนวนมากทยอยเกษียณอายุ และแรงงานกลุ่มนี้เกือบทั้งหมดจะอยู่ในบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ซึ่งบริษัทจะมีนโยบายตามบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ให้เกษียณอายุที่ 55 ปี
ในส่วนนี้มองว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตเพราะนับวันแรงงานไทยก็ลดลง เกรงทุนต่างชาติจะหันไปใช้แรงงานต่างด้าวมากขึ้น หรือมองฐานการผลิตในประเทศอื่นแทน เพราะฐานการผลิตในไทยไม่เอื้ออำนวย
ในเรื่องนี้อยากวิงวอนให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือกับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ให้ปรับ-ขยายเวลาเกษียณอายุจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เท่ากับกฎหมายไทย หากปรับขยายในส่วนนี้ได้แรงงานกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระลูกหลานเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมองว่าแรงงานไทยยังมีข้อเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามในแง่อายุเฉลี่ยของแรงงานของไทยที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่า โดยอายุแรงงานไทยเฉลี่ยที่ 35 ปี ขณะที่เวียดนามเฉลี่ย 30 ปี
นายวิสูตร กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีอุตสาหกรรมบางสาขาออกมาเรียกร้อง ขอปรับขึ้นโบนัสให้เท่ากับอุตสาหกรรมยานยนต์ (อุตสาหกรรมยานยนต์เฉลี่ยได้โบนัส 7 เดือน หรือมากกว่า แล้วแต่ค่ายรถยนต์ที่ให้ไม่เท่ากัน) หากหลายอุตสาหกรรมมีข้อเรียกร้องแบบนี้เกิดขึ้นจากแรงงาน จะกลายเป็น 2 ปัญหาใหญ่ คือ
1.นายจ้างต้องแบกภาระต้นทุนรวมสูงขึ้น เพราะวัตถุดิบ ค่าแรงสวัสดิการ โบนัส พลังงานสูงขึ้นพร้อมกัน ขณะที่บางอุตสาหกรรมผลประกอบการไม่ดี 2.จะนำไปสู่ผลกระทบระยะยาวได้กรณีทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปอินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานการผลิตชิ้นส่วนประกอบกระจายอยู่ใน 3 ประเทศเหล่านี้อยู่แล้วจะตัดสินใจง่ายขึ้น
“อย่าลืมว่าฐานการผลิตในประเทศไทยเวลานี้หลายบริษัทจ่ายค่าแรงสูงกว่ามาตรฐานค่าแรงขั้นตํ่าที่ประกาศอยู่แล้ว บางบริษัทมีค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพให้ มีการเพิ่มค่ากะทำงานจากเช้าเป็นดึกก็บวกเพิ่มให้ ไหนจะมีค่าข้าว ค่าเบี้ยขยันรวมๆ แล้ว สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดมาก”
ปัจจุบันสมาคมผู้รับเหมาแรงงานแห่งประเทศไทยมีแรงงาน เอาต์ซอร์ซทั่วประเทศราว 8 แสนถึง 1 ล้านคน รองรับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ราว 1,000 บริษัท ที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งปีนี้เห็นชัดเจนว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ภาพรวมแย่ลง ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ยังไปได้ โดยผู้บริโภคยังสนใจรถยนต์สันดาปต่อไปอีกหลายปี ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายังต้องใช้เวลาปรับจูนหลายเรื่องเพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับ
นายกสมาคมผู้รับเหมาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า เวลานี้ลูกจ้างมี 3 แบบ/กลุ่ม คือ 1.กลุ่ม Tier 1 เช่นค่ายรถยนต์จะจ่ายค่าแรงสูง 2.คนที่รับงานมาจาก Tier 1 Tier 2 จะจ่ายค่าแรงสูงไม่ได้ และ 3. Tier 3 ที่อยู่ในจังหวัดเล็กๆ ก็อยู่ไม่ได้ถ้าค่าแรงสูง อย่างไรก็ตามการปรับค่าแรงขึ้นตํ่าที่มีการพิจารณาปรับขึ้นนั้น ส่วนตัวมองว่าควรปรับขึ้นตามขีดความสามารถของแรงงาน ไม่เช่นนั้นแล้วไทยจะรักษาฐานการผลิตของทุนต่างชาติไว้ไม่ได้ หากไทยกลายเป็นฐานการผลิตที่มีต้นทุนรวมสูงขึ้นมาก