"กนอ." ดูดลงทุนต่างชาติ-อุ้มกลุ่มยานยนต์ญี่ปุ่นรับลูก "เศรษฐา"

05 ต.ค. 2566 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 11:24 น.

"กนอ." ดูดลงทุนต่างชาติ-อุ้มกลุ่มยานยนต์ญี่ปุ่นรับลูก "เศรษฐา" ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง และอุสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตหลัก สนับสนุนชัพพลายเชนในประเทศ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานปีงบประมาณ 2567 ว่า กนอ.จะเร่งดึงการลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้าลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ตามนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศดึงการลงทุนต่างประเทศครั้งใหญ่ทั้งอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสูง และอุสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตหลัก สนับสนุนชัพพลายเชนในประเทศ อาทิ รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังปรับสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) เวลานี้จึงต้องเน้นประคองการลงทุุนภายใต้สิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์นักลงทุนมุ่งสู่อีวีต่อไป 

นอกจากนี้ กนอ.จะเน้นดึงการลงทุนที่สอดรับกับนโยบายของ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจไปสู่ 4 ภาค การขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือเอสอีซี (SEC) หลังจากดำเนินการในจ.ปัตตานีแต่ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบจึงต้องยุติลง

สำหรับแผนชักจูงการลงทุน(โรดโชว์)ประจำปีงบประมาณ 2567(1ตุลาคม2566-30กันยายน2567) เบื้องต้นสัปดาห์หน้า กนอ.เตรียมไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผน 

และช่วงเดือนธันวาคมคาดว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา จะนำคณะโรดโชว์ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในนามรัฐบาลไทย ตามคำเชิญของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือเมติ (METI)

"กนอ." ดูดลงทุนต่างชาติ-อุ้มกลุ่มยานยนต์ญี่ปุ่นรับลูก "เศรษฐา"  

ส่วนช่วงปลายปี กนอ.ยังมีแผนโรดโชว์ประเทศเยอรมนีเพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี และอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจน 

ขณะที่ต้นปี2567 จะกำหนดแผนโรดโชว์ที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยมั่นใจว่าแนวโน้มการลงทุนไทยยังขยายตัวได้ดี ได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ยุโรป โดยเฉพาะผลจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปประเทศต่างๆ เพื่อกระจายการลงทุน ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติ

นายวีริศ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2566 (กันยายน 2565 – ตุลาคม 2566) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 5,693 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 สูงถึง 182 % เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ 2,500 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย/เช่าในอีอีซี 4,753 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 939 ไร่ 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กนอ. มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 68 แห่ง รวม 190,150 ไร่ ท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่า 25,744 ไร่ มูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ10.88 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 4,828 โรง การจ้างงาน 994,696 คน 
 

อุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 57.33% ,2.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 11.82% และ3.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 8.66 % 

"นักลงทุนจากญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนสะสมมากเป็นอันดับหนึ่ง 30 % รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 12% และนักลงทุนจากสิงคโปร์ 8% คาดว่าอนาคตนักลงทุนจะมีสัดส่วนใกล้เคียงญี่ปุ่นจากคำขอส่งเสริมการลงทุนที่สูงเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา"