สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นำเสนอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2566 เมื่อ 27 พ.ย. 2566
1 ในความเคลื่อนไหวสำคัญ ที่สภาพัฒฯให้ความสำคัญกับสถานการณ์ทางสังคมในเรื่องของ "ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) หรือ BNPL ซึ่งเป็นเทรนด์ในการเข้าถึง "สินเชื่อยุคใหม่"
รายงานของ สภาพัฒฯ ชี้ว่า ปัจจุบันการขยายตัวของการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านช่องทางออนไลน์ และการเชื่อมโยงของฐานข้อมูลและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดบริการผ่อนชำระที่เรียกว่า “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" หรือ “Buy Now Pay Later (BNPL)”
ถือเป็นบริการที่เข้ามาเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในรูปแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อใช้เพียงบัตรประชาชนเท่านั้น
จากการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายดังกล่าว ทำให้การใช้บริการ BNPL แพร่หลายอย่างมาก โดยในปี 2565 มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 360 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 900 ล้านคน ในปี 2570
อีกทั้งในปี 2564 BNPL ยังสามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทยจากรายงาน “Thailand Buy Now Pay Later Market Report 2022” คาดว่า มูลค่าตลาด BNPL ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 5.5 – 6.5 หมื่นล้านบาท
จากสถานการณ์ดังกล่าว สศช. ร่วมกับบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด จึงได้ศึกษาและสำรวจพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ใช้ BNPL ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุระหว่าง 15 – 55 ปี
และพบว่าร้อยละ 23.1 ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้ที่เคยใช้บริการ BNPL ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Gen Y และใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยผู้ใช้มากกว่า 1 ใน 3 มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ใช้เกือบทั้งหมดไม่เคยผิดนัดชำระในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้บริการและทัศนคติของผู้ใช้บริการสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของ BNPL ในหลายประการ คือ
GEN Z เสี่ยง "ก่อหนี้เกินตัวในอนาคต"
นอกจากนี้ ฐานเศรษฐกิจ เจาะลึกข้อมูลของ สศช. ถึง "พฤติกรรมและทัศนคติที่อาจเกิดความเสี่ยง" ในส่วนของเด็ก Gen Z คือ คนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2541-2565 (2001-2024 พบว่า
ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ โดยพบว่า คนกลุ่มนี้ใช้บริการ BNPL มากถึง 36.7% ทั้งที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1 หมื่นบาท
และยังพบว่า Gen Z กว่า 38% หรือ มากกว่า 1 ใน 3 ใช้บริการ BNPL ในการซื้อสินค้าพวกเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ และสินค้าเรื่องความงาม
ซึ่งข้อมูลสศช. สรุปในส่วนนี้โดยใช้คำว่า "สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการก่อหนี้เกินตัวในอนาคต"
สศช.เสนอต้องกำกับดูแลผู้ให้บริการ BNPL
บทสรุปของ สศช.ในเรื่องนี้ สรุปเป็นข้อเสนอว่า "ประเทศไทยต้องมีกำกับดูแลที่ครอบคลุมผู้ให้บริการ BNPL ทุกประเภทอย่างชัดเจน ดังเช่นในหลายประเทศ รวมถึงผู้ใช้บริการจำเป็นต้องมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงในการเป็นหนี้และการใช้จ่ายเกินตัว"