ไทย-มาเลเซีย เห็นพ้องผนึกกำลังพัฒนาชายแดนใต้ 

27 พ.ย. 2566 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 13:34 น.

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย เห็นพ้องพัฒนาชายแดนใต้ หนุนการค้า-การท่องเที่ยวของสองประเทศ พร้อมเร่งรัดก่อสร้างสะพานสุไหง โก-ลก ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ประกาศลุยแก้ปัญหาลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

27 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย  ในโอกาสเยือนไทยเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) ต่อยอดผลการเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ ด้านหน้าอาคารสำนักงานด่านศุลกากรสะเดา (แห่งใหม่) อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา 

โดย นายกรัฐมนตรี ได้หารือทวิภาคีเต็มคณะร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีรัฐมนตรีฝ่ายไทย ประกอบด้วย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับรัฐมนตรีฝ่ายมาเลเซีย ประกอบด้วย Dato’ Sri Alexander Nanta Linggi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการ Dato’ Sri Tiong King Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม

สาระสำคัญของการหารือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่ได้มาหารือกันวันนี้เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดความร่วมมือจากที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเมื่อครั้งที่ นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนที่ผู้นำไทยและมาเลเซียต่างเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนให้ก้าวหน้า และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนตามชายแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้จัดตั้งคณะทำงาน (Task force) โดยไทยได้จัดตั้งคณะทำงานฯ 4 ด้าน คือ

ไทย-มาเลเซีย เห็นพ้องผนึกกำลังพัฒนาชายแดนใต้ 

1.การค้าและการค้าชายแดน 

ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะผลักดันการค้าและการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านการค้าระหว่างกัน ไทยและมาเลเซียควรร่วมมือกันให้ใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็นไปตามเป้าหมาย Joint Action Plan โดยนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เสนอแนวทางเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน อาทิ ขอให้มาเลเซียเป็นเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission: JTC) ในระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ เพื่อเป็นเวทีหารือถึงความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาที่ยังค้างค้างระหว่างกัน

รวมถึงขอให้มาเลเซียช่วยเร่งรัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross-Border Transport of Goods) โดยประเด็นเรื่องการข้ามพรมแดน เช่น ด่านสะเดา ทางมาเลเซียจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เปิดใช้งานเพราะมีหอการค้า (Chamber of Commerce) ที่อยู่ชายแดนให้เร่งติดตาม

ไทย-มาเลเซีย เห็นพ้องผนึกกำลังพัฒนาชายแดนใต้ 

นอกจากนี้นายกฯ ได้ขอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหอการค้าในระดับท้องถิ่นของทั้งไทยและมาเลเซีย เพื่อให้มีการวางแผนร่วมกันในการเพิ่มมูลค่าการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาบริเวณชายแดน เป็นต้น

2.ด้านการท่องเที่ยว

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้ามาไทยมากเป็นอันดับ 1 จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้มีการยกเว้นการยื่นแบบฟอร์ม ตม.6 ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 เมษายน 2567 ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการในการเข้า-ออกประเทศไทยของนักท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่นักท่องเที่ยวไทยพบเจอ คือ ระบบคมนาคมขนส่งและการเดินทางในฝั่งมาเลเซียไม่เพียงพอ ไทยจึงหวังว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross Border Transport pf Passengers) จะสามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ในเวลาอันใกล้แต่ไทยยังมีการเข้าถึงที่จำกัดจึงขอให้ทางมาเลเซียช่วยพิจารณาอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวไทยซึ่งทางมาเลเซียยินดีรับนักท่องเที่ยวไทยโดยจะให้นักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวเดินทางเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

3.ด้านการเกษตร

รัฐบาลไทยมีแผนจัดตั้ง "กรมฮาลาล" ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยจะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและความถูกต้องของสินค้าและอาหารฮาลาลด้วย โดยจะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ซึ่งมาเลเซียพร้อมร่วมมือ เพราะอาหารฮาลาลเป็นเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร

4.ด้านความมั่นคงชายแดน

ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้าสัตว์ป่าเถื่อนข้ามชายแดนไทยและมาเลเซีย โดยฝ่ายไทยได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและมาเลเซีย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าขายสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่า ดำเนินการอย่างเข้มข้น หยุดการลักลอบให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ไทย-มาเลเซีย เห็นพ้องผนึกกำลังพัฒนาชายแดนใต้ 

ด้านโครงการก่อสร้างเชื่อมโยงชายแดน ทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังให้มีโครงการเชื่อมโยงตามแนวชายแดนเพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวทั้งในส่วนของ ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และสะพานสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส กับ รันเตาปันจัง แห่งที่ 2 รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียจะช่วยเร่งรัดการก่อสร้างถนนฝั่งมาเลเซีย

สำหรับการก่อสร้างสะพานสุไหง โก-ลก ไทยและมาเลเซียได้ตกลงแล้วทางด้านหลักการทั้งสองฝ่ายจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จโดยเร็ว