ช่องทางลงทะเบียนแก้หนี้บุคลากร "สาธารณสุข" สรุปครบที่นี่ 

02 ธ.ค. 2566 | 01:00 น.

เช็คช่องทางแก้หนี้บุคลากรสาธารณสุข "หมอชลน่าน" ตั้ง "คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน" ใน รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ เปิดระบบลงทะเบียนวันแรก 8 ธ.ค.นี้ 

หลังจากที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าเร่งแก้หนี้นอกระบบให้กับประชาชนทั่วประเทศ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้น นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเดินหน้าเคลื่อนโครงการปลดหนี้ทั้งในและนอกระบบ ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างไม่เฉพาะข้าราชการเท่านั้น

นพ.ชลน่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงรายละเอียดของเรื่องนี้ว่า ได้มอบเป็นนโยบายให้มีการจัดตั้ง "คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน" ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศเพื่อพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข

รวมถึงเพิ่มการสร้างวินัยทางการเงินและจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566

1.โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย

แบ่งดำเนินการใน 4 กลุ่ม ดังนี้ 

1.กลุ่มปรับโครงสร้างหนี้ หรือ รีไฟแนนซ์  

2.ซื้อบ้านหลังใหม่  

3.ปลูกสร้าง

4.ต่อเติมซ่อมแซม 

จากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 15% เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาท/คน ดอกเบี้ยประมาณ 4.6% เฉลี่ย 9,583 บาท/เดือนโดยดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 2.6% ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ประมาณ 4,167 บาท/เดือนและลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,000 ล้านบาท/ปี

2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ มี 4 รูปแบบ

1.สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น  

2.สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ 

3. สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด

4.สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 200,000 บาท/คน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาท/เดือน โดยดอกเบี้ยโครงการอยู่ที่ 6.459% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาท/เดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,042 ล้านบาท/ปี

สำหรับทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรสาธารณสุขมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาท/เดือน และประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้กว่า 6,042 ล้านบาท/ปี โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 8 ธันวาคม 2566