"ไทย-ญี่ปุ่น"ปั้นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ไทยโคเซ็นตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคต

02 ธ.ค. 2566 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2566 | 11:25 น.

"ไทย-ญี่ปุ่น"ปั้นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ไทยโคเซ็นตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคต หลังร่วมมือรัฐบาลญี่ปุ่นนำระบบการศึกษารูปแบบ KOSEN มุ่งให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความพร้อมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะขั้นสูง

นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยมีสัดส่วนการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสูงสุด จึงได้ดำเนินการร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นในการนำระบบการศึกษารูปแบบ KOSEN (โคเซ็น) เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษามีความพร้อมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทักษะขั้นสูง สร้างความมั่นใจในการพิจารณาเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมระดับสูง  

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการนำระบบการศึกษาหลักสูตร KOSEN ที่สมบูรณ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเท่าสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านระบบการประเมินคุณภาพมาตรฐาน (KOSEN International Standards: KIS) ที่จะมีผลบังคับใช้กับสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KOSEN-KMITL)

และสถาบันโคเซ็นแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KOSEN KMUTT) ในการรับรองคุณภาพมาตรฐานให้เทียบเท่าสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่นในปีการศึกษา 2568 เมื่อมีผู้สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม 

อย่างไรก็ดีล่าสุดสำนักงานโครงการสถาบันไทยโคเซ็น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ KOSEN-KMITL และKOSEN KMUTT จัดงาน Thai KOSEN Fair 2023 เพื่อเผยแพร่ระบบการศึกษา KOSEN และหลักสูตรที่รองรับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ 

"ไทย-ญี่ปุ่น"ปั้นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ไทยโคเซ็นตอบโจทย์อุตสาหกรรมอนาคต

รวมถึงการแสดงผลงานจากการประกวดระดับนานาชาติของนักศึกษา การอภิปรายมุมมองของการพัฒนาความร่วมมือเพื่อพัฒนาการศึกษาและอุตสาหกรรม การจัดนิทรรศการของภาคอุตสาหกรรมเต็มพื้นที่ การแนะแนวการศึกษาต่อในสถาบันไทยโคเซ็นและสถาบันโคเซ็นที่ประเทศญี่ปุ่น  

สำหรับเป้าหมายของการจัดงานดังกล่าว เพื่อต้องการให้สังคมไทยเข้าใจหลักสูตรโคเซ็น และรับรู้ถึงการเป็น วิศวกรพันธุ์ใหม่ที่เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป อย่างสร้างสรรค์ ด้วยทักษะการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำและคิดแก้ปัญหา สามารถสร้างหุ่นยนต์ 

หรือสร้างระบบเชิงวิศวกรรมออกมาเพื่อนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริงภายใต้การสนับสนุนของภาคอุตสาหกรรมระหว่างการศึกษา สามารถไปสร้างผลงานจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาแล้วทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศ การแข่งขันหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่ญี่ปุ่น นักศึกษาไทยโคเซ็นมีความโดดเด่น ทฤษฎีแม่น ปฏิบัติจริง มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นจากการเรียนในชั้นเรียน ทำให้มีทั้งทักษะด้านภาษาที่ดีและพร้อมที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่แก่ภาคอุตสาหกรรม   

อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปีแรกของโครงการได้กำหนดเป้าการผลิตวิศวกรจากหลักสูตร 5 ปี จำนวน 1,080 คน โดยนักเรียนทุนรุ่นแรกที่จะสำเร็จการศึกษาจากสถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. ในปีการศึกษา 2567 จำนวน 24 คน  และที่มีนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น หลักสูตร 7 ปี ในระดับปริญญาตรี จำนวน 72 ทุน ครบทุกชั้นปีในปีการศึกษาหน้า 

ขณะที่สถาบันโคเซ็นแห่ง สจล. และสถาบันโคเซ็นแห่ง มจธ. จะเริ่มจัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง (Advanced Course) เพื่อรองรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปีที่ 5 เข้าศึกษาต่อเพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนต่อและทำงานในสถานประกอบการไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งนักศึกษามีโอกาสได้ไปฝึกอบรม และไปทำวิจัยที่สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในสถาบันไทยโคเซ็นด้วย

นายเพิ่มสุข กล่าวอีกว่า หลักสูตรไทยโคเซ็นที่เปิดสอนที่ KOSEN-KMILT ประกอบด้วยหลักสูตร Mechatronics Engineering, Computer Engineering และ Electrical and Electronics Engineering 

ส่วน KOSEN KMUTT จัดการเรียนการสอนหลักสูตร Automation  Engineering, Biological Engineering และ Agricultural Engineering มีเป้าหมายเพื่อผลิตวิศวกรสำหรับภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของประเทศ