นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เรื่องการเดินหน้าจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายแล้ว โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบหลักการดำเนินการดังกล่าวแล้ว
ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างรอกระทรวงคมนาคม ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อศึกษาและดูรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนนั้น ทางกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังจะต้องศึกษาวงเงินการซื้อคืนรถไฟฟ้าให้ได้ข้อสรุปก่อน แต่ขั้นตอนการระดมทุนนั้น มองว่าไม่ได้เป็นขั้นตอนที่ยาก เพราะหากทราบว่ามีความต้องการเงินเท่าใด ก็สามารถเปิดวงเงินระดมทุนได้ เช่น การระดมทุนกองทุนวายุภักษ์ วางวงเงินระดมทุน 1.5 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังก็เปิดระดมทุนตามวงเงินดังกล่าว เป็นต้น
สำหรับการจัดตั้งกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้า สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้กองทุนเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) หรือจะจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน เช่น หากเป็นการระดมทุนจากกองทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีก็จะเหลือไม่เยอะ แต่หากเป็นการจัดตั้งกองทุนใหม่ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
อย่างไรก็ตาม หากจะใช้กองทุน TFFIF เดิม ก็อาจจะพิจารณาให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งการใช้กองทุน TFFIF เรามีหนังสือชี้ชวนอยู่แล้ว ก็มีความคล่องตัว สามารถเข้าไปเพิ่มวงเงินการระดมทุนได้ผ่านหนังสือชี้ชวน และยื่นคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับปรุงหนังสือชี้ชวนได้เลย แต่แนวทางเหล่านี้ ถือว่าเบื้องต้นมากๆ สุดท้ายแล้วจะต้องพิจารณาในหลายๆ แนวทาง ซึ่งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังต้องมาหารือร่วมกันต่อไป
“ตอนนี้เรารอกระทรวงคมนาคม ประสานการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา ซึ่งขั้นตอนหลังจากนั้นกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังจะร่วมกันศึกษาว่าต้องใช้เม็ดเงินในการซื้อคืนรถไฟฟ้าเท่าใด ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากจะมีขั้นตอนเจรจากับภาคเอกชน และการแก้ไขสัญญา”
สำหรับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละสายมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน ต้องไปดูอย่างละเอียด เช่น ระยะเวลาสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ บางแห่ง 7 ปี บางแหล่ง 6 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ ตามสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้านั้น มีข้อกฎหมายโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) หากได้ข้อสรุปแล้ว สุดท้าย สคร. ในฐานะเลขาบอร์ด PPP ก็ต้องนำเรียนเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม เพื่อแก้ไขสัญญาต่อไป