เช็คความยากจน หนองบัวลำภู ก่อน “เศรษฐา” ยกคณะถก ครม.สัญจร

02 ธ.ค. 2566 | 22:06 น.

รายงานพิเศษ : เช็คสถานการณ์ความยากจน ของคนจังหวัดหนองบัวลำภู เป้าหมายแรกของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ยกคณะลงประชุม ครม.สัญจร นัดแรก ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกับจังหวัดที่มีคนจนติดอันดับต้นของประเทศ

นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยกคณะ ประเดิมจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งแรกของรัฐบาล จังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ระหว่างวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2566 นี้ 

วาระสำคัญของการเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร ครั้งนี้ รัฐบาลกางกำหนดการเตรียมยกครม.ลงไปตรวจเช็คข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับความยากจนของคนในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งปัจจุบันนับเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหาความยากจนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ตามกำหนดการ นายกรัฐมนตรี และคณะ จะลงพื้นที่ตรวจติดตามประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด และปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ณ ที่ว่าการอำเภอสุวรรณคูหา ตำบลสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โดยจะรับฟังรายงานภาพรวมของจังหวัด โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของความยากจนของคนในพื้นที่

 

ภาพประกอบข่าว นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ลงพื้นที่ตรวจราชการ

 

ทั้งนี้จากข้อมูลของประชากรในพื้นที่ พบว่า ประชากรในจังหวัดหนองบัวลำภู มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (GPP per capita) ในปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 59,157 บาท ลดลงจากปีที่แล้ว 1,620 บาท คิดเป็น 2.7% จัดเป็นลำดับที่ 20 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลำดับที่ 76 ของประเทศ 

ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดหนองบัวลำภู ณ ราคาประจำปี 2563 มีมูลค่า 28,062 ล้านบาท ลดลงจาก 28,944 ล้านบาท ในปีก่อนหน้า เท่ากับ 882 ล้านบาท คิดเป็น 3.1% โดยโครงสร้างการผลิตของจังหวัดหนองบัวลำภู ประกอบด้วย

  • ภาคเกษตร มูลค่า 5,835 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.79%
  • ภาคอุตสาหกรรมมูลค่า 5,446 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19.41% 
  • ภาคบริการมูลค่า 16,782 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 59.80% 

จากข้อมูลรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2565 ของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีจำนวนคนจนติด 1 ใน 10 ของจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด โดยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 รองจาก แม่ฮ่องสอน ปัตตานี ตาก นราธิวาส และกาฬสินธุ์ และหากย้อนไปในปี 2543 จังหวัดหนองบัวลำภู เคยเป็นรองแชมป์จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดของประเทศ

 

ภาพประกอบข่าว นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ลงพื้นที่ตรวจราชการ

 

ส่วนฐานข้อมูลคนจนอีกแหล่ง นั่นคือ ระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบว่ามีคนจนอยู่ในพื้นที่ใดบ้างทั่วประเทศ ล่าสุดได้รายงานตัวเลขคนจนเป้าหมายของไทย ในปี 2566 มีจำนวนคนจน 1,032 คน จากจำนวนประชากรสำรวจ 348,001 คน หรือ คิดเป็น 0.30% โดยมีคนจนด้านต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ด้านสุขภาพ 85 คน
  • ด้านความเป็นอยู่ 313 คน
  • ด้านการศึกษา 231 คน
  • ด้านรายได้ 565 คน
  • ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ 2 คน

ส่วนข้อมูลด้านคุณภาพการศึกษา จากดัชนีชี้วัดความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index: HAI) ปี 2564 ในด้านการศึกษาของจังหวัดหนองบัวลำภู อยู่ลำดับที่ 73 ของประเทศ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาคะแนน 0-Net ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา 2563 อยู่ที่ 29.54% (ค่าเฉลี่ยประเทศ 33.79%) เพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2562 คิดเป็น 4.75% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ คิดเป็น 14.39% 

รวมทั้งเป็นอันดับที่ 73 ของประเทศ มีค่าเฉลี่ยเชาว์ปัญญา (IQ) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พ.ศ. 2564 อยู่ที่105.57 (ค่าเฉลี่ยประเทศ 102.8) เพิ่มขึ้นจาก ปี พ.ศ. 2559 คิดเป็น13.09% โดยสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ย IQ ของจังหวัดหนองบัวลำภูเป็น ลำดับที่ 1 ของประเทศ

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาด้านคุณภาพชีวิต พบว่า อาชีพและการจ้างงานประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดหนองบัวลำภู ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นหลัก โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ดังนั้นหากปีใดประสบปัญหาฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกษตรกรมักได้รับผลกระทบทำให้ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น
จังหวัดหนองบัวลำภู ในปี 2564 มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 225,768 คน ประกอบด้วย 

  • ผู้มีงานทำ 219, 186 คน 
  • ผู้ว่างงาน 4,040 คน 
  • ผู้รอฤดูกาล 2,542 คน 

โดยคิดเป็นสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงาน คิดเป็น 61.27% หากพิจารณาสัดส่วนของการว่างงานหรือผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน คิดเป็น 38.73% ตามกำลังแรงงานในช่วงปัจจุบัน และจำนวนผู้มีงานทำที่อยู่ในระบบ จำนวน 53,780 คน คิดเป็น 24.1% และนอกระบบแรงงาน จำนวน 169,407 คน คิดเป็น 75.9% ของแรงงานในระบบ

 

ภาพประกอบข่าว นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ลงพื้นที่ตรวจราชการ

 

สำหรับปัญหาด้านแรงงานในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ ขาดความมั่นคงในด้านอาชีพ ทำให้มีรายได้ไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งประชาชนบางส่วนยังขาดความรู้และความเข้าใจในด้านของกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ด้านแรงงาน มีความต้องการให้ช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมในการประกอบอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ 

รองลงมา ต้องการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพและต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ตามจังหวัดหนองบัวลำภู มีข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนี้

  1. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ที่ตรงความต้องการของประชาชนจริงๆ
  2. สนับสนุนงบประมาณในการดูแลครัวเรือนอย่างต่อเนื่องในระยะ 1-2 ปี เพื่อให้ครัวเรือนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง
  3. สนับสนุนการจ้างงานแก่ครัวเรือนยากจน ในภาคเอกชนและภาครัฐ เนื่องจากครัวเรือนยากจนยังขาดความสามารถในการประกอบอาชีพตามลำพัง จึงจำเป็นต้องผลักดันเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่มีหัวหน้างานควบคุม