วันนี้ (3 ธันวาคม 2566) ที่ห้องประชุมสัตตบงกช โรงพยาบาลหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือบูรณาการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองบัวลำภู อุดรธานี เลย หนองคาย และบึงกาฬ)
โดยมีภาคเอกชน ประกอบด้วย นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายวีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ว่าที่ร้อยตรี ภูมิพันธ์ บุญมาตุ่น ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของภาคเอกชน ในการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ต้องการให้ผลักดันเป็น “ศูนย์การท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ เกษตรอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เมืองน่าอยู่” เพราะในกลุ่มจังหวัดนี้ มีศักยภาพแหล่งท่องเที่ยงจำนวนมาก รวมถึงมีเขตจังหวัดติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งยังสามารถพัฒนาได้อีกจำนวนมาก
แต่ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ด้านการท่องเที่ยวมีปัญหา เพราะจากข้อมูลพบว่า นักท่องเที่ยวลดลง โดยปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากปี 2562 ถึง 43% นอกจากนี้ ยังพบว่า ในกลุ่มจังหวัด มีปัญหาความยากจนถึง 190,600 คน ทำให้ภาครัฐ ต้องเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคม และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่
สำหรับข้อเสนอจากภาคเอกชน กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จังหวัดหนองบัวลำภู ดังนี้
- ยกระดับการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ให้ไปสู่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยใช้ Soft Power อัตลักษณ์ท้องถิ่น อาทิ ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา อาหาร เส้นทางโรแมนติกรูท นาดีรูท และสี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง
- เร่งรัดการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อรองรับภาคการเกษตร การบริโภค และการลงทุน
- ยกระดับโรงพยาบาลภาครัฐของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
- ศึกษาและวางแผนโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 สู่ NeEC และเชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
- จัดทำระบบขนส่งมวลชน เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี ปี 2569
- ส่งเสริมการจัดงานมหกรรมผ้าทอมือภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS Fabric Expo
- ยกระดับรายได้เกษตรกรภายใต้การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
- เร่งรัดปรับปรุงผังเมืองรวมและผังเมืองรวมจังหวัด เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุน ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
- แก้ไขปัญหาและยกระดับมูลค่าเพิ่มเกษตรอุตสาหกรรมพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง ไผ่ ยางพารา และ 10.เร่งรัดและผลักดันการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว ตามแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหือง (JTMH)
ทั้งนี้เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด มีรายละเอียดโครงการที่เสนอ ดังนี้
จังหวัดบึงกาฬ
- โครงการพัฒนาการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว เพื่อรองรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)
- เร่งรัดโครงการบริหารจัดการแม่น้ำโขง-แม่น้ำสงคราม เพื่อการเกษตร
จังหวัดเลย
- ขอเร่งรัดการก่อสร้างรันเวย์ท่าอากาศยานเลย เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต
จังหวัดหนองคาย
- เร่งรัดลงทุนการสร้าง Container Yard ให้แล้วเสร็จ เพื่อการรองรับการขยายตัวการขนส่งสินค้าทางรางของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 และ EEC
- ขอจัดตั้งเขตเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย (Tax Refund) ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน1(นำร่องในเขตท้องที่เทศบาลเมืองหนองคาย)
- ยกระดับมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย เป็นมหาวิทยาลัยหนองคาย หรือพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดให้มีความก้าวหน้าในระดับนานาชาติให้การยอมรับ
- จัดสร้างและพัฒนาศูนย์ Business Center เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุน
- โครงการพัฒนายกระดับระบบการนำเข้า-ส่งออก ไทย-ลาว-จีน ในรูปแบบ Single Windows
จังหวัดหนองบัวลำภู
- ขอรับการสนับสนุนขนส่งระบบราง เชื่อมโยงอุดรธานี-หนองบัวลำภู-เลย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
- ผลักดันสะพานเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู กับอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
- ยกระดับวิทยาลัยชุมชน เพื่อเป็นสถาบันพัฒนาวิชาชีพเฉพาะทางในระดับปริญญาตรี
- พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกเฒ่าโต้ จังหวัดหนองบัวลำภู
- พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผ้าทอธรรมชาติ จังหวัดหนองบัวลำภู
- โครงการหนองบัวลำภูเจ้าบ้านที่ดี เพื่อยกระดับการพัฒนาบุคลากรและแหล่งท่องเที่ยว
- โครงการศึกษาออกแบบทางเลี่ยงเมือง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
จังหวัดอุดรธานี
- เร่งรัดการจัดตั้งศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) ให้แล้วเสร็จ ภายในปี 2567 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน/ผ่านแดน แบบครบวงจร ณ จังหวัดอุดรธานี
- ยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพในจังหวัดอุดรธานี ให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ระดับนานาชาติ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นหัวข้อหลัก ๆ ในการหารือวันนี้ เรื่องแรก คือ เรื่องน้ำของภาคเกษตรกรรม หรือความเดือดร้อนในเรื่องน้ำของพี่น้องเกษตรกร ทางรัฐบาลก็เดินหน้าอยู่อย่างเต็มที่ ประเด็นที่ต่อมาคือ โรงพยาบาลยาเสพติด หรือ การขอแพทย์หรือขอโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อรักษาเรื่องนี้ผ่านกระทรวงสาธารณสุขก็เดินหน้าอยู่และมีแผนงานค่อนข้างที่จะชัดเจนแล้ว ดังนั้นขอให้รออีกสักนิด
ส่วนการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อการค้า เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องดีหากทำได้ประเทศไทย จะมีรายได้เข้าประเทศมหาศาล รวมถึงทำให้พื้นที่ท้องถิ่นชุมชนนั้นมีรายได้ และเรื่องสุดท้าย การแก้ความยากจน เวลานี้รัฐบาลทำทุกทาง เพราะไม่ต้องการเห็นพี่น้องประชาชนนั้นต้องลำบาก มีแต่อยากทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
รองนายกฯ ระบุว่า ทุกข้อเสนอที่รับในวันนี้ จะถูกนำเข้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ในวันพรุ่งนี้ (4 ธันวาคม 2566) และอยากให้พี่น้องชาวอีสานได้รับข่าวดี