กลายเป็นโครงการ "กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง" อลเวง เมื่อนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กับ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดไม่ตรงกัน ภายหลังการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดหนองบัวลำภู
“ที่ประชุมอนุมัติในหลักการ เพื่อนำไปเรียงลำดับพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณและในรายละเอียดโครงการ มีการเสนอให้ออกแบบการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท นำไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”นางพวงเพ็ชร กล่าว สวนทางกับโฆษกรัฐบาลที่ตอบคำถามเรื่องดังกล่าวว่า “ไม่เข้าครม.”
โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย มีการศึกษามาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 2539 โดยพบว่าในยุคที่มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตอบกระทู้ถามนางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข สส.จังหวัดเลย พรรคเพื่อไทย เรื่อง โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าในบริเวณอุทยานแห่งขาติภูกระดึง
โดยนายชุมพลได้แสดงรายงานผลการศึกษา “โครงการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการจัดการด้านนันทนาการ/การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง” โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (พฤษภาคม 2543) สรุปได้ว่า
การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นนั้น ไม่น่ามีปัญหาร้ายแรงแต่อย่างใด โดยได้สรุปเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย เกี่ยวกับการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ดังนี้
กรณีมีกระเช้าลอยฟ้า
ปัญหา
ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการ พัฒนาโครงการกระเช้าลอยฟ้า ได้แก่
- ผลกระทบด้านชีวภาพและกายภาพต่อทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นของฤดูท่องเที่ยว
- ฝ่ายบริหารอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จะต้องรับภาระหนักขึ้นในการอํานวย ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
- เกิดผลกระทบต่ออาชีพรายได้ของลูกหาบ
ข้อจำกัด
- ข้อจํากัดด้านกฎหมาย (การดำเนินการพัฒนากระเช้าลอยฟ้าต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และระเบียบกรมป่าไม้)
- พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 A และ 1 B ก่อนใช้ประโยชน์ต้องทำเรื่องขอยกเว้นมติ ครม.และจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- ยังขาดสิ่งอํานวยความสะดวกที่จําเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาใช้บริการกระเช้าลอยฟ้า
ศักยภาพ
- กระเช้าลอยฟ้าทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนภูกระดึงมากขึ้นและการท่องเที่ยวเป็นไปได้ทุกฤดูกาล
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะขยายตัวขึ้น เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนและภูมิภาค
- เพิ่มศักยภาพในการจัดการปัญหาขยะ ของภูกระดึงโดยการลําเลียงขยะลงมา กําจัดภายนอกเขตอุทยาน ฯ
- เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานควบคุมและป้องกันการบุกรุกททำลายทรัพยากรธรรมชาติบนภูกระดึง
ข้อดี
- เป็นการอํานวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกวัย
- เป็นประโยชน์ในกรณีฉุกเฉิน อุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยกะทันหัน สามารถลําเลียงผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที
- ก่อให้เกิดการกระจายรายได้และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ
ข้อเสีย
- เกิดผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ของลูกหาบ
- อาจเกิดปัญหาการผูกขาดในธุรกิจ ด้านการบริการ
- ทำลายเอกลักษณ์ในการท่องเที่ยว ภูกระดึง และทำลายทัศนียภาพ
- กระเช้าไฟฟ้าจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดสิ่งก่อสร้างในลักษณะเมืองและปัญหาของเมืองในพื้นที่อุทยานฯ
- ใช้งบประมาณมาก
กรณีไม่มีกระเช้าลอยฟ้า
ปัญหา
- ปัญหานักท่องเที่ยวขึ้นไปคับคั่งแออัดบนภูกระดึงในช่วงวันหยุดติดต่อกันในเดือนตุลาคม ธันวาคมและมกราคม เนื่องจากการเดินทางขึ้น - ลงภูกระดึง ต้องใช้เวลามากเกิดปัญหาจำนวน นักท่องเที่ยวเกินขีดความสามารถในการรับรองของทรัพยากรท่องเที่ยวและสาธารณูปโภค - สาธารณูปการบนภูกระดึง
- ปัญหาขยะและปัญหาการรบกวน/ทำลาย พืชพรรณธรรมชาติและสัตว์ป่า
- ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
ข้อจำกัด
- ภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าถึงยากต้องใช้วิธีเดินเท้าขึ้นไปตามความลาดชันของภูเขาเป็นระยะทางถึง 6 กม.ต้องอาศัยเวลาและเรี่ยวแรงมากทำให้ยากต่อการจัดการกระจายจำนวนนักท่องเที่ยว ให้สม่ำเสมอและการขยายตลาดการท่องเที่ยวไปสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยอื่นๆ
- อุทยานแห่งชาติมีข้อจํากัดด้านงบประมาณบุคลากรและรายได้
ศักยภาพ
- มีศักยภาพที่จะจัดการให้มีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ เนื่องจากมีทั้งทรัพยากรท่องเที่ยว บุคลากร ชุมชนท้องถิ่นที่พร้อมให้ความร่วมมือ
- อยู่ในจุดที่มีเส้นทางคมนาคมสะดวกและมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก
ข้อดี
- ลูกหาบมีอาชีพและรายได้ต่อไปเช่นเดิม - ชุมชนมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวอย่างเสมอภาค
- คงเอกลักษณ์ในการท่องเที่ยวภูกระดึงไว้ได้
- ไม่มีสิ่งก่อสร้างแปลกปลอมทำลาย ทัศนียภาพตามธรรมชาติ
- ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก
ข้อเสีย
- ยังคงจํากัดโอกาสการท่องเที่ยวไว้เฉพาะนักท่องเที่ยววัยหนุ่มสาว
- ในกรณีเจ็บป่วย ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ การลําเลียงผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทำได้ลําบาก
- การหมุนเวียนของเงินจากการท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มรายได้ต่ำมีการใช้จ่ายน้อยและมี นักท่องเที่ยวไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งปี