วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธาน การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าในการประชุมครม.วันนี้จะมีวาระที่น่าสนใจของหน่วยงานต่าง ๆ เสนอเข้ามาหลายเรื่อง โดยเฉพาะการปรับ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รอบใหม่ เสนอเข้ามาโดยกระทรวงแรงงาน หลังจากได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างแล้ว
สำหรับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 2-16 บาท หรือเฉลี่ย 2.37% โดยมีการปรับอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา วันละ 330 บาท ซึ่งหากผ่านการเห็นชอบจากครม. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจะทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีนั้น ยอมรับว่า ตนเองคงทบทวนอะไรไม่ได้ ถึงแม้ว่าอยากจะทบทวนใหม่ แต่อำนาจของรัฐมนตรีไม่สามารถทำอะไรได้ และเป็นเรื่องของบอร์ดไตรภาคี จึงต้องเสนอครม. เพื่อให้มีคำสั่งทบทวนก่อน และกระทรวงแรงงานจะไปหารือในแนวทางต่าง ๆ ต่อไป
พร้อมกันนี้ยังต้องติดตามด้วยว่า ในการประชุมครม.วันนี้ กระทรวงพลังงาน จะเสนอขอจัดสรรงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการ ตรึงค่าไฟงวดแรก ปี 2567 (มกราคม-เมษายน) ในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย เพื่อเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 17.7 ล้านราย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดเป็น 75% ของผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท เข้ามาหรือไม่
ส่วนการดูแลผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป กระทรวงพลังงาน จะนำเข้าไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 13 ธันวาคม 2366 นี้ต่อไป โดยที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า ราคาค่าไฟงวดใหม่จะลดลงกว่า 4.68 บาทต่อหน่วยแน่นอน
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง จะเสนอ มาตรการพักหนี้ เพิ่มเติมในกลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21 ในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษ และการแก้ปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อสู้ภัยโควิด ที่ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยจะพิจารณาล้างหนี้เสียให้ลูกหนี้ที่มีปัญหา เพื่อให้กลับมาเป็นลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ