นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาหนี้ในระบบตามนโยบายของรัฐบาลนั้น จะไม่เกิดพฤติกรรมการไม่ใช้คืนหนี้ หรือ moral hazard เนื่องจากแนวทางการช่วยเหลือจะมีการกำหนดระยะเวลาลูกหนี้ในการเข้าร่วมมาตรการ ทั้งนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายดูแลลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีด้วย โดยจะเข้าไปขอความร่วมกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ซึ่งมีจำนวนอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ไม่มาก คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้
“ธนาคารออมสินให้ความร่วมมือเรียบร้อยแล้ว สำหรับการดูแลลูกหนี้ชำระดี เช่น เดิมผ่อนชำระหนี้เดือนละ 10 บาท เป็นเงินต้น 8 บาท และอีก 2 บาทเป็นดอกเบี้ย ในส่วนนี้ดอกเบี้ยก็จะลดลงให้เหลือ 1 บาท และวงเงินที่เหลือจะนำไปตัดเงินต้นเพิ่ม เพื่อให้ภาระหนี้ลดลงไป ซึ่งจะเป็นการจูงใจให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้ด้วย”
ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนมีอยู่ 16 ล้านล้านบาท รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ซึ่งคาดว่ามาตรการของรัฐบาลดูแลหนี้ในระบบครั้งนี้จะช่วยดูแลลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้กว่า 1 ล้านคน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดูแลลูกหนี้กรณีที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิตนั้น จะมีการเปลี่ยนเป็นสินเชื่อเทอมโลน และนำวงเงินไปชำระหนี้คืนให้ ส่วนกรณีมีหลายใบก็ต้องมีการรวมหนี้ โดยจะดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งรัฐบาลก็มีการเตรียมงบประมาณไว้เพื่อสนับสนุนให้ออมสินดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
ขณะที่การแก้ไขหนี้สหกรณ์นั้น ธนาคารออมสินจะเป็นผู้ให้สินเชื่อซอฟต์โลนสหกรณ์ เพื่อให้ไปสหกรณ์ปล่อยสินเชื่อต่อในอัตราที่ต่ำ และสหกรณ์จะต้องปรับตัวโดยเข้าสู่ระบบเครดิตบูโร โดยเริ่มจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียน
“การแก้ไขหนี้ในระบบ ของลูกหนี้ทั้ง 4 กลุ่ม ครอบคลุมการดูแลลูกหนี้ทุกประเภท ซึ่งถือเป็นการดำเนินการพร้อมกัน และสิ่งที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการต่อ คือ การแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยวิธีการแก้ไขจะมีการลงพื้นที่เข้าไปดูแลเชิงรุก เนื่องจากมีข้อมูลจากการลงทะเบียน”
ทั้งนี้ กลุ่มลูกหนี้ที่ประสบปัญหา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้