บริษัท ขนส่ง จำกัด ( บขส. ) มีแผนย้ายสถานีหมอชิต 2 กลับไปยังพื้นที่เดิมติดกับรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต แต่ปัจจุบันพบว่ายังไม่สามารถดำเนินการ เนื่องจากติดข้อจำกัดด้านกฎหมาย ส่งผลให้พื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวยังไม่ได้รับการพัฒนาแต่อย่างใด
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ความคืบหน้าการย้ายสถานีหมอชิต 2 ไปยังสถานีหมอชิตเก่าอยู่ติดสถานีบีทีเอสหมอชิต ว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากเดิมการย้ายสถานีหมอชิตในช่วงนั้นกรมธนารักษ์จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บนพื้นที่หมอชิตเก่า โดยให้บขส.ย้ายสถานีมาอยู่ที่บริเวณสถานีหมอชิต 2 ชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปัจจุบันพบว่าโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวยังไม่ได้รับความคืบหน้าในเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะต้องรอกรมธนารักษ์ดำเนินการ
“พื้นที่สถานีหมอชิตเก่านั้น มีข้อตกลงร่วมกันว่ากรมธนารักษ์จะจัดพื้นที่ให้บขส.ประมาณ 112,000 ตารางเมตร โดยบขส.ได้ขอสงวนสิทธิ์การใช้พื้นที่ไปแล้ว หากโครงการฯ สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ เบื้องต้นบขส.มีแผนจะย้ายการเดินรถโดยสารขนาดเล็กหรือมินิบัส ใช้พลังงานไฟฟ้า(EV) ความยาว 8 เมตร สามารถวิ่งระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร (กม.) เข้าใช้บริการพื้นที่สถานีขนส่งอยู่ในโครงการคอมเพล็กซ์ของบริษัท บากกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT ผู้รับสัมปทานพัฒนาโครงการ”
ส่วนรถโดยสารขนาดใหญ่ของบขส.คาดว่าจะมีการย้ายไปอยู่ในพื้นที่บริเวณติดรถไฟฟ้าในแต่ละสถานีต่างๆ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น แต่ขณะนี้พบว่าพื้นที่บริเวณสถานีหมอชิต 2 ของบขส. ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเป็นอย่างมาก
เนื่องจากประชาชนสามารถเดินทางจากรถไฟฟ้าบีทีเอส,รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพื่อเดินทางมายังสถานีฯได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ ถือเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง หากสามารถอยู่ที่เดิมได้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ขณะเดียวกันบขส.จะต้องพิจารณาการย้ายสถานีอีกครั้ง หากโครงการของ BKT ดำเนินการแล้วเสร็จ
รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนประชาชนที่อาศัยในชุมชนหลังสถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเวนคืนที่ดินในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร ตามที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินเวนคืนจากการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 กลับมาใช้พื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต (เดิม)
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ส่งคืนให้กรมธนารักษ์มาพัฒนาจัดหาประโยชน์เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ ซึ่งได้ทำสัญญากับบางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 2539 หลังจากที่ BKT ชนะการประมูล เสนอค่าธรรมเนียมการจัดประโยชน์ 550 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารสถานีขนส่ง พื้นที่พาณิชย์ และที่จอดรถ
ทั้งนี้พบว่าสัญญาดังกล่าวหยุดชะงักชั่วคราว เมื่อปี 2544 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิต (เดิม) ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันในแง่สัญญาต่อกัน โดยกรมธนารักษ์ ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวใหม่ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ต่อมาในปี 2556 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสถานะของสัญญาว่า เมื่อยังไม่บอกเลิกสัญญา BKT และกรมธนารักษ์ยังคงต้องปฏิบัติตามสัญญาต่อไป
นอกจากนี้ในการประชุมที่ผ่านมา ระหว่างกรมธนารักษ์,กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) , บขส. และกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมร่วมแก้ปัญหา โดยบริษัท BKT ยินดีลดพื้นที่ก่อสร้างลงจากสัญญาเดิมเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน หลังจากนั้นจะเร่งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จากนั้นจะลงนามในสัญญากับกรมธนารักษ์ใหม่ ซึ่งกรมธนารักษ์จะทำหนังสือถึง กทม.ให้ยกเลิกการเวนคืนต่อไป