ผู้ประกันตน ม.33 เตรียมจ่ายเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม เริ่ม 1 ม.ค. 67

15 ธ.ค. 2566 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2567 | 02:13 น.

ประกันสังคม เตรียมปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคม 2567 ผู้ประกันตนมาตรา 33 กว่า 11.8 ล้านคน เริ่ม 1 ม.ค. 2567 เตรียมจ่ายเพิ่มจากเดิม 750 บาท/เดือน ปรับเพิ่มสูงสุด 1,150 บาท/เดือน

จากกรณีที่กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณา "ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ..." เพื่อปรับปรุงเพดานค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 อัตราใหม่

ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นซึ่งจากข้อมูลระบบประกันสังคม ณ เดือนตุลาคม 2566 ระบุว่า มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนทั้งสิ้น 11,833,086 คน 

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ-ขั้นสูง ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมกลางปี 2565

ต่อมากระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงและนำร่างไปเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องครั้งที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาโดยมีผู้ร่วมเสนอความเห็นทั้งหมด 55,584 คน ทั้งนี้ ยังไม่มีการประกาศใช้โดยจะนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขกฎหมายขั้นตอนต่อไป

พร้อมดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายตามข้อเสนอแนะและนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและดำเนินการตามกระบวนการทางนิติบัญญัติต่อไป

อัตราใหม่เริ่มวันไหน-จ่ายกี่บาท

ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 17,500 บาท จะจ่ายประกันสังคมสูงสุดที่ 875 บาท

ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2570 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 20,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,000 บาท

ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2573 เป็นต้นไป จำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกิน 23,000 บาท จะจ่ายเงินประกันสังคมสูงสุดที่ 1,150 บาท

ผู้ประกันตน ม.33 เตรียมจ่ายเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม เริ่ม 1 ม.ค. 67

ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น

1.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

2.เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70%  หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำเข้ากองทุน 

3.เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

4.เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

5.เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน

6.เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน

-กรณีผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง 

-กรณีผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน

ทั้งนี้ เงินบำเหน็จชราภาพจะได้เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติเนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ผู้ประกันตน ม.33 เตรียมจ่ายเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม เริ่ม 1 ม.ค. 67

 

รัฐบาลยืนยันยังไม่เก็บเงินสมทบกองทุนฯเพิ่ม 

วันที่ 5 มกราคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่มีการปรากฏข่าวสารเรื่องสำนักงานประกันสังคมเตรียมเก็บเพิ่ม จาก 750 เป็น 875 บาท/เดือน เริ่ม 1 ม.ค. 67 นั้น เป็นข้อมูลเท็จ ทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมยังคงจัดเก็บเงินสมทบ กองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 5 จากฐานคำนวณค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะเป็นเงินไม่เกิน 750 บาท ไม่มีการปรับเป็น 875 บาท ต่อเดือนตามที่กล่าวอ้าง
 
“ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.sso.go.th หรือติดต่อสายด่วน 1506” นายคารม ย้ำ