โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ห้วงที่สองของการพัฒนา ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. ได้เห็นชอบร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2 ปี 2566 – 2570 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตามแผนการพัฒนาระยะนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้เกิดจำนวนเงินการลงทุนจริงในพื้นที่ ระหว่างปี 2566 - 2570 เพิ่มขึ้น รวม 500,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 100,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นการต่อยอดการพัฒนาอีอีซี จากระยะที่ 1 (2560 –2565) ที่มีมูลค่าอนุมัติการลงทุนไปแล้วราว 2 ล้านล้านบาท
พร้อมดันผลิตภัณฑ์มวลรวมของพื้นที่ อีอีซี (GPCP EEC) ขยายตัว 6.3% และผลักดันให้เป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนและอยู่อาศัยของประชากรและนักลงทุนทั่วโลกผ่านการวางแผนดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระยะที่ 2 ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในปี 2566 - 2570 ประกอบด้วย 5 แนวทาง ฐานเศรษฐกิจ ขอสรุปไว้ดังนี้
ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการ แห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนา ประกอบด้วย
1. พัฒนาความพร้อมของพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรม
2. พัฒนากฎระเบียบและข้อบังคับให้เอื้อต่อการลงทุน โดยศึกษาปรับปรุง แก้ไข และพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
3. พัฒนามาตรการส่งเสริม การลงทุนและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี รวมถึงระบบการอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service: OSS)
4. สร้างปัจจัยในการลงทุนต่อเนื่องและการลงทุนใหม่ โดยส่งเสริมการวิจัยในเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สอดรับกับความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เข้มแข็ง และพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน
เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนา ประกอบด้วย
1. เร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ ให้แล้วเสร็จตามกำหนด
2. พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งให้มีโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ อย่างไร้รอยต่อ (Seamless Operation)
3. พัฒนามาตรการส่งเสริมการลงทุนและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ
4. พัฒนาระบบขนส่งระดับรองเชื่อมโยงการขนส่งหลัก ด้วยการกำหนดมาตรการเชิงรุกในการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง และนำเทคโนโลยี มาใช้ในการบริหารจัดการ
5. พัฒนาและส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคให้มีคุณภาพและเพียงพอ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน
6. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) โดยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โครงข่ายเคเบิลใต้น้ำ โครงสร้างพื้นฐานรองรับอุปกรณ์ IoTs ให้ครอบคลุมพื้นที่ รวมถึงมีการแบ่งปันข้อมูล (Data Sharing) ระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนา ประกอบด้วย
1. พัฒนาฐานข้อมูลการจ้างงาน โดยจัดทำฐานข้อมูลแรงงานของอุตสาหกรรมเป้าหมาย
2. พัฒนาผลิตภาพแรงงานของอุตสาหกรรมหลัก โดยการยกระดับทักษะเดิม และปรับเปลี่ยนทักษะที่มีอยู่ให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ (New skill/Upskill/Reskill)
3. ขยายผลและต่อยอดการยกระดับทักษะบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่อีอีซี ตามหลัก Demand Driven เพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพของแรงงานให้สามารถ ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัย และเหมาะสม กับการประกอบอาชีพ เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในเขตเมือง ซึ่งจะเป็นโอกาสในการกระจายความเจริญและยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนา ประกอบด้วย
1. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยการจัดทำผังเมืองที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ด้วยการ มีส่วนร่วมของประชาชน และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. ส่งเสริมการพัฒนาเมืองน่าอยู่ให้เอื้อต่อการขยายตัวทาง เศรษฐกิจและสังคมอย่างมีสมดุล โดยพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองสังคมคาร์บอนต่ำ มุ่งใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และนำเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน และนวัตกรรมที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพ ในการให้บริการและบริหารจัดการเมือง
3. เพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขในพื้นที่ให้มีศักยภาพ ยกระดับ โรงพยาบาลชุมชนให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไป
4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ด้วยการส่งเสริมให้มีระบบกำจัดขยะ น้ำเสีย และการควบคุมกำกับจัดการมลพิษ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมตามรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ และลดความ เหลื่อมล้ำ โดยมีกลยุทธ์ในการพัฒนา ประกอบด้วย
1. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่อีอีซี ให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ด้วยการยกระดับและ พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความทันสมัย และมี มูลค่าเพิ่มสูง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด
2. พัฒนาภาคเกษตรให้เข้าถึงเทคโนโลยีและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ตลาดต้องการ โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตเพื่อยกระดับผลผลิตและผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสามารถเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
3. ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่และชุมชนที่มีอัตลักษณ์ให้มีคุณค่าสูงรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูง โดยพัฒนาต่อยอดแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในพื้นที่ และบริหารจัดการคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และปลอดภัย
4. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยสร้างเสริมทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวัตถุดิบในพื้นที่ ให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดรายได้จริง