“แลนด์บริดจ์” เพิ่มGDP ภาคใต้ 1.4 ล้านล้าน ศักยภาพน้อยกว่า EEC

03 พ.ย. 2566 | 02:01 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2566 | 02:18 น.

จับตา “แลนด์บริดจ์” เพิ่ม GDP ภาคใต้ 1.4 ล้านล้าน ศักยภาพน้อยกว่า EEC พร้อมเทียบ “มาเลย์” คู่แข่งสำคัญ ใครจะมีโอกาสมากกว่ากัน

ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 16 ต.ค. 2566 ได้รับทราบหลักการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) คาดจะใช้เงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ในระหว่างการเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum For Inter national Cooperation (BRF) ที่ประเทศจีน (17-18 ต.ค. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญชวนนักลงทุนจีนมาร่วมพัฒนาแลนด์บริดจ์เป็นชาติแรก

 

โดยโครงการนี้จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ระยะ ใช้เวลารวม 8 ปีนับจากนี้ มีรูปแบบการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกฝั่งชุมพร และระนอง และเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าฝั่งชุมพร-ระนองในหลายรูปแบบเชื่อมโยงท่าเรือ ระยะที่ 1 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 5.22 แสนล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1.64 แสนล้านบาท ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.28 แสนล้านบาท และระยะที่ 4 วงเงินลงทุนรวมประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท

 

โอกาสไทยจากแลนด์บริดจ์

“แลนด์บริดจ์” เพิ่มGDP ภาคใต้ 1.4 ล้านล้าน  ศักยภาพน้อยกว่า EEC

 

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลบวกจากโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดกับประเทศ รวมถึงอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ในด้านการค้า การลงทุนของไทย หากโครงการแจ้งเกิดได้ จะเชื่อม 2 ฝั่งทะเลคือ อันดามัน (ระนอง) และอ่าวไทย (ชุมพร) ช่วยย่นระยะทางในการขนส่งทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ต้องอ้อมไปช่องแคบมะละกา โดยสามารถ เชื่อมสินค้าระหว่างไทยไป ตลาดอินเดีย เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป และเชื่อมสินค้าระหว่างไทยกับตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

 

นอกจากนี้จะเกิดโอกาสการลงทุนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตของสินค้าเกษตรในภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง  (ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช) เช่น อุตสาหกรรมยางพาราสมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปทันสมัย และสุขภาพ โดยเฉพาะผลไม้ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานลม เป็นต้น

 

ระเบียง ศก.มาเลย์คู่แข่งสำคัญ

อย่างไรก็ดีโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย มีคู่แข่งสำคัญคือ ระเบียงเศรษฐกิจ The East Coast Rail Link(ECRL) ของมาเลเซียที่เชื่อมท่าเรือ Port Klang รัฐสลังงอร์ (Selangor) ที่อยู่ด้านตะวันออก ไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันตกรัฐกลันตัน และตรังกานูที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจีน ขณะที่การสร้างแลนด์บริดจ์ของไทย ไม่ได้อยู่บน Belt and Road Initiative (BRI)หรือเส้นทางสายไหมของจีนที่เชื่อมกับโลก

 

“แลนด์บริดจ์” เพิ่มGDP ภาคใต้ 1.4 ล้านล้าน  ศักยภาพน้อยกว่า EEC

ดังนั้นการดำเนินโครงการจะต้องมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนมาลงทุน โดยการทำให้เกิดการเชื่อมเส้นทางเรือของจีนกับท่าเรือชุมพรของไทย และต้องมั่นใจว่าศักยภาพท่าเรือชุมพรมีศักยภาพเทียบเท่ากับท่าเรือ Port Klang ของมาเลเซีย หากศักยภาพตํ่ากว่า นักธุรกิจก็ยังไปใช้บริการของท่าเรือมาเลเซียอยู่ดี นอกจากนี้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานบนเส้นทางแลนด์บริดจ์ เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ อย่างเดียว ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้ ต้องสร้างแรงจูงใจอื่นๆ เข้ามาเสริม จากปัจจุบันยังขาดเขตอุตสาหกรรมทันสมัยในพื้นที่

 

เพิ่ม GDP ภาคใต้ 1.4 ล้านล้าน

“โครงการนี้หากวางแผนให้ดี และมีศักยภาพ จะก่อให้เกิดการจ้างงานของประชาชนในพื้นที่ ภาคเอกชนในท้องถิ่นจะมีโอกาสทางเศรษฐกิจและเงินหมุนเวียนเพิ่ม และเป็นโอกาสของนักลงทุนต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในภาคใต้เพิ่มขึ้น โดยใน 10 ปีข้างหน้า ผลจากแลนด์บริดจ์จะทำให้ GDP ภาคใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.3 แสนล้านบาท รวม 10 ปี เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8% ของ GDP ไทย ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 1 แสนคน โดยภาคบริการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากสุด รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม และเกษตรตามลำดับ ทั้งนี้จากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านล้านบาท จะกระจายไปยัง 4 จังหวัดหลัก คือ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี”

 

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าน่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น ส่วนเอกชนไทยจะเป็นนักธุรกิจรายใหญ่ ส่วนสาขาธุรกิจ อุตสาหกรรม และบริการของไทยที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป และอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

 

“ในเบื้องต้นโครงการนี้ คาดว่าน่าจะแย่งส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจได้ 15-20 % จากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดกับสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยคิดจากมูลค่าการขนส่งโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามโครงการแลนด์บริดจ์ เมื่อเทียบกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในปัจจุบัน โอกาสทางเศรษฐกิจของแลนด์บริดจ์จะน้อยกว่า เพราะอีอีซีมีอุตสาหกรรมในพื้นที่เดิมอยู่แล้วมีศักยภาพท่าเรือที่สูงกว่าและมีระยะทางที่ใกล้กรุงเทพฯ กว่า”