นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” 2567 วันละ 2–16 บาท ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ได้หารือในที่ประชุมว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี จะนัดประชุมอีกครั้ง และตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อศึกษาลงในรายละเอียดถึงรายวิชาชีพ รายระดับอำเภอ หรือระดับเทศบาล ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด
“กรณีทั้งจังหวัดในเขตเทศบาล หรือบางอำเภอมีสภาพเศรษฐกิจที่ดี แต่บางพื้นที่จะเป็นชนบท เศรษฐกิจในพื้นที่ตรงนั้นคงไม่ได้ดีมากนัก ซึ่งคณะอนุกรรมการจะลงไปศึกษาในรายละเอียดทั้งหมดต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ขอให้ที่ประชุมมอบหมายการประสานข้อมูลด้านเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้ง
ทั้งนี้ เมื่อคณะอนุกรรมการหารือจนได้ข้อสรุปแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอเข้าสู่ที่ประชุมไตรภาคีชุดใหญ่ ภายในเดือนมีนาคม 2567 ก่อนจะประกาศค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ เพื่อเป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ไทย คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ต่อไป
“มั่นใจว่าในรายอาชีพ หรือรายอำเภอ หรือเทศบาล จะสะท้อนภาพว่ามีสาขาวิชาไหน พื้นที่ไหนจะปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าปัจจุบันนี้ ถือเป็นการเจาะรายละเอียดลึกลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเรื่องนี้ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ดำเนินการแล้ว เบื้องต้นค่าแรงหลายพื้นที่จะดีกว่าที่ประกาศในปัจจุบันแน่นอน” รมว.แรงงาน ระบุ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การพิจารณารายละเอียดแบบรายพื้นที่ รายอำเภอ จะสะท้อนถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะสามารถรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ เพราะบางพื้นที่จะมีความเหมาะสมมากกว่า และไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยจากนี้แต่ละจังหวัดจะมีค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่ากันก็ได้