วันนี้ (20 ธันวาคม 2566) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี วันนี้ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ยึดมติคณะกรรมการครั้งก่อน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ในการเห็นชอบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ ที่เพิ่มขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% สูงสุด 370 บาท
ส่วนข้อสังเกตจากรมว.แรงงาน นั้นทางคณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบเรื่องนี้โดยจะนำไปพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่ โดยวันที่ 17 มกราคม 2566 จะลงนามแต่งตั้งอนุกรรมการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ส่วนการปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 นั้นจะเป็นช่วงใดจะพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้มติของการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ที่ยึดตามมติเดิม นั่นคือเห็นชอบการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอัตราวันละ 2-16 บาท เฉลี่ย 2.37% โดยกระทรวงแรงงาน จะนำเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาต่อไปในสัปดาห์หน้า
โดยรายละเอียดของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2567 มีการปรับอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา วันละ 330 บาท ซึ่งหากผ่านการรับทราบมติจากครม. แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
สำหรับผลการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2567 ตามมติเดิม แบ่งเป็น 17 อัตรา สรุปได้ดังนี้
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 370 บาท 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต (เดิม 354 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 363 บาท 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร (เดิม 353 บาท) จังหวัดนครปฐม (เดิม 353 บาท) นนทบุรี (เดิม 353 บาท) ปทุมธานี (เดิม 353 บาท) สมุทรปราการ (เดิม 353 บาท) และสมุทรสาคร (เดิม 353 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 361 บาท 2 จังหวัด จังหวัดชลบุรี (เดิม 354 บาท) และระยอง (เดิม 354 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา (เดิม 340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 351 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม (เดิม 338 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เดิม 343 บาท) สระบุรี (เดิม 340 บาท) ฉะเชิงเทรา (เดิม 345 บาท) ปราจีนบุรี (เดิม 340 บาท) ขอนแก่น (เดิม 340 บาท) และเชียงใหม่ (เดิม 340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 349 บาท จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี (เดิม 340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 348 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี (เดิม 340 บาท) นครนายก (เดิม 338 บาท) และหนองคาย (เดิม 340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 347 บาท จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ (เดิม 340 บาท) และตราด (เดิม 340 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 345 บาท จำวน 15 จังหวัดกาญจนบุรี (เดิม 335 บาท) ประจวบคีรีขันธ์ (เดิม 335 บาท) สุราษฎร์ธานี (เดิม 340 บาท) สงขลา (เดิม 340 บาท) พังงา (เดิม 340 บาท) จันทบุรี (เดิม 338 บาท) สระแก้ว (เดิม 335 บาท) นครพนม (เดิม 335 บาท) มุกดาหาร (เดิม 338 บาท) สกลนคร (เดิม 338 บาท) บุรีรัมย์ (เดิม 335 บาท) อุบลราชธานี (เดิม 340 บาท) เชียงราย (เดิม 332 บาท) ตาก (เดิม 332 บาท) พิษณุโลก (เดิม 335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 344 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (เดิม 335 บาท) ชุมพร (เดิม 332 บาท) สุรินทร์ (เดิม 335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 343 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร (เดิม 335 บาท) ลำพูน (เดิม 332 บาท) นครสวรรค์ (เดิม 335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 342 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (เดิม 332 บาท) บึงกาฬ (เดิม 335 บาท) กาฬสินธุ์ (เดิม 338 บาท) ร้อยเอ็ด (เดิม 335 บาท) เพชรบูรณ์ (เดิม 335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 341 บาท จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท (เดิม 335 บาท) สิงห์บุรี (เดิม 332 บาท) พัทลุง (เดิม 335 บาท) ชัยภูมิ (เดิม 332 บาท) และอ่างทอง (เดิม 335 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 340 บาท จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (เดิม 332 บาท) สตูล (เดิม 332 บาท) เลย (เดิม 335 บาท) หนองบัวลำภู (เดิม 332 บาท) อุดรธานี (เดิม 340 บาท) มหาสารคาม (เดิม 332 บาท) ศรีสะเกษ (เดิม 332 บาท) อำนาจเจริญ (เดิม 332 บาท) แม่ฮ่องสอน (เดิม 332 บาท) ลำปาง (เดิม 332 บาท) สุโขทัย (เดิม 332 บาท) อุตรดิตถ์ (เดิม 335 บาท) กำแพงเพชร (เดิม 332 บาท) พิจิตร (เดิม 332 บาท) อุทัยธานี (เดิม 332 บาท) และราชบุรี (เดิม 332 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 338 บาท จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง (เดิม 332 บาท) น่าน (เดิม 328 บาท) พะเยา (เดิม 335 บาท) แพร่ (เดิม 332 บาท)
- อัตราค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส (เดิม 328 บาท) ปัตตานี (เดิม 328 บาท) และยะลา (เดิม 328 บาท)