ส.อ.ท. บี้ “พีระพันธุ์” ปรับราคาหน้าโรงกลั่น หลังเริ่มใช้ “น้ำมันยูโร 5”

29 ธ.ค. 2566 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2566 | 06:34 น.

ประธาน ส.อ.ท. ทำหนังสือถึง “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ปรับราคาหน้าโรงกลั่น หลังปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐาน “น้ำมันยูโร 5” เริ่ม1 มกราคม 2567

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า ขณะนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ทำหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีสาระสำคัญคือ ขอให้พิจารณาปรับราคาหน้าโรงกลั่น หลังจากกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ได้มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 แล้ว

สำหรับรายละเอียดของหนังสือฉบับนี้ ระบุว่า ภาครัฐมุ่งมั่น แก้ไข และลดผลกระทบของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) นับตั้งแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน และวางแผนมาอย่างต่อเนื่อง เน้นการนำไปสู่ระดับปฏิบัติและลดผลกระทบสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ ทำให้เกิดสถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ 

หนึ่งในแนวทางการจัดการ คือ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 และได้กำหนดยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนชิน-แก๊สโซฮอล์ และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 (EURO 4) ให้เป็นยูโร 5 (EURO 5) โดยปรับลดกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยให้มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2567 

กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดการบังดับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 โดยลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ซึ่งใช้เงินลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท

พร้อมทั้งเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศฯ เพื่อให้ทันกับนโยบายภาครัฐ ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากมาย โดยเฉพาะความผันผวนของราคาน้ำมันและการแพร่ระบาดของโรคโควิด

ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นฯ ได้ดำเนินการจนพร้อมจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปชนิดมาตรฐานยูโร 5 ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ตามเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นผลงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของรัฐบาล โดยมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่าการผลิตมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 ในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย การลงทุน และการปรับปรุงระบบการกลั่น การปรับชนิดของน้ำมันดิบเป็นชนิดกำมะถันต่ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่น 

ดังนั้น กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่น ตามเงื่อนไขและกลไกตลาด จึงขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาปรับราคาน้ำมันที่สะท้อนตามมาตรฐานและคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลกต่อไป