นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (อีบีเอ็ม) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ว่า จากเหตุการณ์ล้อประคองหลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา นั้น ได้รับรายงานว่าล้อที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นล้อประคอง ซึ่ง 1 ขบวนจะมีทั้งหมด 48 ล้อ ข้างละ 24 ล้อ เพื่อให้เกิดความมั่นคง
แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นได้สั่งการให้นำรถที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 21 ขบวน (จากทั้งหมดมี 30 ขบวน) เข้ามาตรวจสอบแล้ว ปัจจุบันมีการตรวจสอบแล้วกว่า 624 ล้อ จากทั้งหมดกว่า 1,000 ล้อ โดยคาดว่าวันที่ 6 มกราคมนี้ จะกลับมาให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ และในวันที่ 8 มกราคม 2567 จะกลับมาให้บริการทั้ง 21 ขบวน ตามปกติต่อไป
“ก่อนอื่นต้องขอโทษประชาชนทั้งที่ใช้บริการรถโมโนเรล และประชาชนที่ใช้รถ ใช้ถนน ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสารมาตลอดระยะเวลาที่ให้บริการมากว่า 30 ปี เราค่อนข้างตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเพิ่งนำรถโมโนเรลสายดังกล่าวมาให้บริการเพียง 2 เดือนเท่านั้น ยืนยันว่ามีการบำรุงรักษาอย่างดี โดยเราได้รับความร่วมมือจาก บริษัท อัลสตอม (Alstom) ผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรล เข้ามาช่วยดูแลโดยตรงด้วย ซึ่งทางอัลสตอมเอง เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของใคร ครั้งนี้จึงได้ลงพื้นตรวจสอบเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน”
ส่วนอะไหล่ที่อยู่ในล็อตเดียวกับเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) ที่ได้รับความเสียหาย ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และทางบริษัท อัลสตอม เตรียมส่งอะไหล่ชุดใหม่มาให้อีกด้วย นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ จะมีการตรวจสอบเช่นเดียวกันนี้กับสายสีชมพูต่อไป
นายคีรี กล่าวต่อว่า กรณีที่กระทรวงคมนาคมจะมีการแบล็คลิสต์ตัดสิทธิ์การประมูลโครงการของภาครัฐในอนาคตกับเอกชนที่ทำให้โครงการในปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุจนได้รับผลกระทบกับประชาชนนั้น เชื่อว่าทางกระทรวงเตือนด้วยความหวังดีที่จะให้ผู้ประกอบการใส่ใจมากขึ้น หากทำได้ไม่ดีก็ไม่ควรเข้าร่วมการประมูล
"กระทรวงก็มีความห่วงใยเรื่องการให้บริการแก่ประชาชน ทั้งนี้ผู้ประการทุกรายควรให้ความสำคัญมากกับการดำเนินธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ไม่ใช่เฉพาะระบบรางเท่านั้น แต่รวมถึงระบบขนส่งทางถนน,ทางอากาศ เราเห็นด้วยให้มีมาตรการนี้"
นายคีรี กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดเหตุการณ์ล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหล่นใส่แท็กซี่กระทบต่อปริมาณผู้โดยสารและรายได้หรือไม่นั้น ยืนยันว่าการสูญเสียทางการเงินไม่เท่าไรเพราะขณะนี้ยังมีการให้บริการฟรีแก่ประชาชน อีกทั้งเป็นช่วงแรกที่ผู้โดยสารบางส่วนยังไม่เข้าใจการใช้ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งหมด คาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่บริษัทสูญเสียในด้านชื่อเสียงมากกว่า
"เราทราบเรื่องนี้ตั้งแต่อยู่ต่างประเทศแล้ว วันนี้เรามาตามงานสิ่งที่ทำไปเราเข้าใจตรงกันไหม เราเอาสิ่งที่บริหารเดินรถมาเกือบ 30 ปี ซึ่งบริษัทให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยและการให้บริการกับผู้โดยสาร"
ด้านการเพิ่มความมั่นใจแก่ประชาชนที่ใช้บริการถนนในแนวเส้นทางรถไฟฟ้านั้น มองว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้า ซึ่งผู้บริหารและผู้เดินรถต้องให้ความสำคัญมากที่สุด ขณะนี้บริษัททุ่มเงินไปค่อนข้างมากในการตรวจสอบระบบเดินรถ 30 ปี ทั้งนี้ต้องตรวจสอบด้วยว่ามีอะไรที่อันตรายหรือไม่
"มั่นใจไหมว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก มองว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ซึ่งจะต้องนำล้อรถไฟฟ้ามาตรวจสอบทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร วันนี้เราต้องขอโทษผู้โดยสารที่เกิดเหตุนี้ ทางบริษัทผู้ผลิตก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน"
อย่างไรก็ตามกรณีการนำระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลมาให้บริการนั้น เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในช่วงนั้น ซึ่งระบบดังกล่าวถือเป็นทางเลือกหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนที่มีข้อดีเมื่อมีการโค้งของรถไฟฟ้าใช้ระยะทางที่สั้นเมื่อเข้าสู่ในเมือง