หลังรัฐบาลปัดฝุ่น โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรี มีมติ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 รับทราบในหลักการของโครงการแลนด์บริดจ์ ปรากฎมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ทั้งเห็นด้วยและคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์
ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เตรียมนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ที่จังหวัดระนอง เบื้องต้นได้ข้อสรุปจะใช้ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดระนอง เป็นสถานที่จัดประชุม ในวันที่ 23 มกราคม 2567
ขณะที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร (สส.) มีกำหนดลงพื้นที่ชุมพร-ระนอง 6-7 มกราคม 2567 เพื่อศึกษาดูงาน เรื่อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ และจัดสัมมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.จังหวัดระนอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เปิดเผยว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ มีกำหนดไปศึกษาดูงาน เรื่อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคใต้ และจัดสัมมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง เกี่ยวกับการสร้างงาน สร้างอาชีพในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ(Mega Project) มุมมองของคนพื้นที่ ระหว่างวันที่ 6-7 มกราคม 2567
โดยกำหนดการมีดังนี้ วันที่ 6 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไปคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาดูงานและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้นำชุมชนพื้นที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกชุมพร บริเวณพื้นที่แหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เวลา 14.00 น. ศึกษาดูงานแนวโครงการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมโครงการแลนด์บริดจ์ ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และเวลา 16.30 น. ศึกษาดูงานความเป็นไปได้และความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกโครงการแลนด์บริดจ์ บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง
วันที่ 7 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น. สัมมนาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดระนอง เรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ มุมมองของคนพื้นที่ ณ ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดระนอง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ปรากฎความเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านแลนด์บริดจ์ เครือข่ายชุมพร-ระนอง มีนายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พร้อมมวลชนรวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือกับตัวแทนภาครัฐ
โดยว่าที่ร้อยตรีกิตติภพ รอดดอน ปลัดจังหวัดระนอง เป็นตัวแทนรับเรื่องเพื่อที่จะนำฝากไปยังรัฐบาล ทางกลุ่มต้องการให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบของชาวประมงพื้นบ้าน ที่จะเกิดจากโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง – ชุมพร
กลุ่มผู้คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ได้สะท้อนความต้องการไปยังทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง กรณีความกังวลให้มีการแก้ไขปัญหาชาวประมงพื้นบ้านผ่านท่านรัฐมนตรีฯ ทั้งในมิติด้านการพัฒนาคุณภาพ ด้านระบบสาธารณูปโภค ด้านการจัดการ และการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายและกฎหมายประมง
รวมทั้งได้เรียกร้องให้รัฐบาลกำกับกระบวนการศึกษาผลกระทบจากโครงการที่กำลังดำเนินการ ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านสุขภาพตามที่กฎหมายไว้ให้เรียบร้อย และต้องทำให้เกิดกระบวนศึกษาเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมาและเป็นไปตามหลักการทางวิชาการที่ต้องเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
ที่สำคัญรัฐบาลต้องไม่ชี้นำให้การศึกษาดังกล่าวดำเนินไปตามที่รัฐบาลต้องการ เรียกร้องให้รัฐบาลจะต้องยุติการประชาสัมพันธ์หรือการเดินสายนำเสนอโครงการให้กับนักลงทุนประเทศต่างๆนายกรัฐมนตรีกำลังดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา จนกว่าผลการศึกษาโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จ
เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ และจากสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วิถีชีวิต ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงควรจัดทำ SEA หรือการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์เฉพาะโครงการนี้เพื่อทำให้เห็นถึงผลกระทบในภาพใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากทุกโครงการย่อยทั้งหมด
ด้านว่าที่ร้อยตรีกิตติภพ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอ ข้อคิดเห็นต่างๆจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยเพื่อที่จะนำเรื่องที่ร้องเรียนดำเนินการตามลำดับขั้นต่อไป