นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยปี 2566 ที่ผ่านมา ประชากรผู้สูงอายุในไทย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคน (ประชากรไทยทั้งประเทศ จำนวน 66,057,967 คน : ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
ขณะที่ รายงาน World Population Prospects 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ตัวเลขจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน โดยเป็นผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี อยู่ที่ 10% และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นภายในปี 2593 เป็น 16%
ทั้งนี้ กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มีอำนาจทางการเงิน และมีอิทธิพลต่อคนในครอบครัว จึงเป็นโอกาสของธุรกิจไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตและสุขภาพ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุทุกคน
เบื้องต้น กรมฯ ได้วิเคราะห์ความต้องการของผู้สูงอายุที่น่าสนใจออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจบนความต้องการปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างจากช่วงวัยอื่นๆ ได้แก่ อาหาร ที่ต้องออกแบบเป็นการเฉพาะทั้งด้านรูปลักษณะ รสสัมผัส คุณค่าและปริมาณตามโภชนาการที่เหมาะสม โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจผลิตอาหารปรุงสำเร็จ ธุรกิจผลิตอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจบริการด้านเครื่องดื่ม ฯลฯ
ที่อยู่อาศัย ออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ เครื่องอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆ ในที่พักอาศัย ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน ธุรกิจผลิตเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจขายส่ง/ขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เสื้อผ้า ออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระ การเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมตามกาลเทศะช่วงวัยดังกล่าว ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ธุรกิจผลิตชุดชั้นในและชุดนอน ธุรกิจขายส่ง/ขายปลีกเสื้อผ้า ฯลฯ และ ยารักษาโรค ที่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายในช่วงสูงวัย ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจที่สามารถสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกรักษาโรคทั่วไป ธุรกิจผลิตเภสัชภัณฑ์และเคมีที่ใช้รักษาโรค ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมรักษาโรค ฯลฯ
สำหรับจำนวนจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564 – 2566) มีแนวโน้มการจัดตั้งเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จัดตั้ง 10,676 ราย ทุน 38,431 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 13,915 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 3,239 ราย หรือ 30.33%
ทุน 50,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 11,722 ล้านบาท หรือ 30.50% ปี 2566 จัดตั้ง 16,913 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 2,998 ราย หรือ 21.55% ทุน 53,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3,123 ล้านบาท หรือ 6.22%
ขณะที่ผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุในปี 2563 – 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี 2563 รายได้รวม 2,574,654.18 ล้านบาท กำไร 111,968.79 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 2,697,981.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 123,327.13 ล้านบาท หรือ 4.79%
กำไร 199,228.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 87,260.14 ล้านบาท หรือ 77.93 % ปี 2565 รายได้รวม 3,088,576.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 390,594.70 ล้านบาท หรือ 14.48% กำไร 298,543.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 99,314.20 ล้านบาท หรือ 49.85%
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของสังคมผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 140,923 ราย คิดเป็น 15.83% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าทุน 3,501,834.40 ล้านบาท คิดเป็น 16.13% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 55,668 ราย คิดเป็น 39.50% และมีทุนจดทะเบียนรวม 2,450,129.05 ล้านบาท คิดเป็น69.96% เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางทางธุรกิจและมีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก
นอกจากความต้องการด้านปัจจัยพื้นฐานแล้ว ความต้องการความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตให้กับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนที่ผู้สูงอายุเริ่มมองหาช่องทาง การลงทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเงินสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ หรือแม้แต่การออมเงินเพื่อเก็บไว้ให้กับลูกหลาน
หากไม่บริหารจัดการเงินหรือทรัพย์สินที่มีอยู่ให้ดี อาจทำให้ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตได้ในอนาคต หรือแม้แต่ตัวช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อยามเจ็บป่วยก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน
ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจที่สามารถสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการการเงิน ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต้องหาช่องทาง รูปแบบการลงทุน หรือหลักประกันที่เหมาะสมกับช่วงอายุ ความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างๆ เพื่อจูงใจกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าว
จำนวนการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงอายุช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา (2564 – 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จัดตั้ง 241 ราย ทุน 746 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 274 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 33 ราย หรือ 13.69% ทุน 811 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 65 ล้านบาท หรือ 8.71% ปี 2566 จัดตั้ง 309 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 35 ราย หรือ 12.77% ทุน 6,633 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 5,822 ล้านบาท หรือ 717.87%
ผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงอายุในปี 2563 – 2565 คือ ปี 2563 รายได้รวม 891,536.93 ล้านบาท กำไร 55,574.22 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 974,076.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 82,539.70 ล้านบาท หรือ 9.26% กำไร 66,738.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 11,164.49 ล้านบาท หรือ 20.09% ปี 2565 รายได้รวม 991,096.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 17,019.71 ล้านบาท หรือ 1.75% กำไร 20,293.79 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 46,444.92 ล้านบาท หรือ 69.59%
ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของกลุ่มผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 4,142 ราย คิดเป็น 0.47% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าทุน 253,994.65 ล้านบาท คิดเป็น 1.17% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 2,098 ราย คิดเป็น 50.65% และมีทุนจดทะเบียนรวม 219,401.21 ล้านบาท คิดเป็น 86.38%เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและมีการคมนาคมสะดวก
สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการของทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลและการเอาใจใส่เป็นพิเศษ ด้วยเหตุแห่งความเสื่อมถอยของร่างกาย ประกอบกับสภาวะฮอร์โมนในร่างกายที่มีความแปรปรวนที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก การมีกิจกรรมที่เข้ามากระตุ้นจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพกายและใจ ซึ่งธุรกิจที่น่าสนใจที่สามารถสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจสถานออกกำลังกาย ธุรกิจกิจกรรมด้านการกีฬา ธุรกิจจัดนำเที่ยว ธุรกิจสปา ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ ที่พักสัมผัสวัฒนธรรมชนบท ฯลฯ โดยอาจจัดหาอุปกรณ์และโปรแกรมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในการออกลังกาย หรือแม้แต่การท่องเที่ยวที่สะดวก มีกิจกรรมที่เหมาะสม และสามารถสร้างประสบการณ์และทัศนคติที่ดีให้กับผู้สูงอายุ
จำนวนการจัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพกายและใจของกลุ่มผู้สูงอายุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564 – 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2564 จัดตั้ง 2,318 ราย ทุน 6,604 ล้านบาท ปี 2565 จัดตั้ง 3,338 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1,020 ราย หรือ 44.00% ทุน 6,510 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 จำนวน 94 ล้านบาท หรือ 1.42% ปี 2566 จัดตั้ง 4,588 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,250 ราย หรือ 37.45% ทุน 9,665 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3,155 ล้านบาท หรือ 48.46%
ผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพกายและใจของกลุ่มผู้สูงอายุ ในปี 2563 – 2565 คือ ปี 2563 รายได้รวม 279,714.22 ล้านบาท ขาดทุน 76,321.25 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 253,750.61 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 จำนวน 25,963.62 ล้านบาท หรือ 9.28% ขาดทุน 72,052.63 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปี 2563 จำนวน 4,268.61 ล้านบาท หรือ 5.59% ปี 2565 รายได้รวม 424,592.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 170,842.38 ล้านบาท หรือ 67.33% ขาดทุน 32,474.02 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปี 2564 จำนวน 39,578.61 ล้านบาท หรือ 54.93%
ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพกายและใจของกลุ่มผู้สูงอายุที่ดำเนินกิจการอยู่ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 32,459 ราย คิดเป็น 3.65% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าทุน 717,665.26 ล้านบาท คิดเป็น 3.31% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจฯ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 11,010 ราย คิดเป็น 33.91% และมีทุนจดทะเบียนรวม 453,850.93 ล้านบาท คิดเป็น 63.23% เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่มากและเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก
กลุ่มธุรกิจที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้นำเสนอข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุที่กรมฯ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ แต่แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอนาคต จะส่งผลให้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยภาคธุรกิจต้องปรับตัว และ แสวงหาโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และตลาดที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึง ความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุอาจเป็นส่วนสำคัญของโอกาสในการดำเนินธุรกิจ และสร้างฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ให้กับธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการบริหารจัดการธุรกิจ คือ การเติบโตของธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสามารถรักษาฐานลูกค้าที่มั่นคงไว้ได้ โดยหากสามารถผลิตหรือจำหน่ายสินค้าและบริการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง การสร้างความจงรักภักดีของลูกค้าให้มีต่อสินค้าหรือบริการ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถขายสินค้าบริการนั้นไปตลอดอายุของลูกค้า สร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง ส่งผลให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึง ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการออกมาตรการหรือนโยบายในการดำเนินธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต เข้มแข็ง และแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รองรับสังคมผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกประเทศทั่วทุกมุมโลกในอนาคตอันใกล้นี้