นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัว (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด19 ว่า
โควิด 19 การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เกิดขึ้นตลอด
บทเรียนของโควิดที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอด ตามวิวัฒนาการ ตั้งแต่สายพันธุ์เดิมอู่ฮั่น ไล่มาจนถึงปัจจุบัน
เราจะได้ยินชื่อสายพันธุ์ที่เรียกยากๆตามรหัส อักษร A, B, C เช่น B.1.1.7 ตามแบบการแบ่งของ Pangolin
และเมื่อเกิดมีการผสมกันระหว่างสายพันธุ์ (recombination) รหัสนำหน้าจึงใช้ตัวอักษร 2 ตัว เช่น XD, XC แล้วตามด้วยรหัสตัวเลข
ต่อมาเกิดมีลูกผสมระหว่างสายพันธุ์ย่อยใน BA เช่นผสมกันระหว่างBA.2.10 กับ BA.2.75 ก็เลยเกิดตระกูล XBB ขึ้นมาแล้ว
หลังจากนั้นก็มีการแปรเปลี่ยนมาโดยตลอด ชื่อและรหัสที่ตั้งขึ้นมาค่อนข้างยุ่งยากในการจดจำ
ตามองค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อตามอักษรกรีก เป็นแอลฟา เบต้า แกรมม่า โอมิครอน และลูกผสมที่อยู่ในโอมีคอรนเกิดขึ้นจำนวนมากมายและระยะเวลาที่ยาวนานจึงมีสายพันธุ์ใหม่มาก องค์การอนามัยโลกเองก็ไม่ได้ตั้งชื่อต่อจากนี้ไป
นักชีววิทยา และวิวัฒนาการชาวแคนาดา ชื่อ Ryan Gregory เห็นว่าชื่อดังกล่าวที่ผ่านมาตามpangolin เข้าใจและจดจำได้ยาก จึงเอาสัตว์หรือเทพๆในนิยายกรีก และดวงดาวมาตั้งชื่อเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและการตั้งชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับองค์การอนามัยโลก
เราจึงได้ยินชื่อสายพันธุ์เป็นชื่อสัตว์ในเทพนิยาย เช่น Kraken, Orthus, Pilora, Arcturus สำหรับเราชื่อกลุ่มนี้เราก็ไม่ค่อยคุ้น เช่น XBB ชื่อ Gryphon
อย่างไรก็ตามในการแตกลูกหลานในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมาในปีที่แล้วจะมีลูกหลานแยกสายพันธุ์ออกมาจาก BA.2 และ BA.5 มากมายดังแสดงในรูป (รูปที่นำมา ต้องการเพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นภาพ ไม่ได้มีเจตนาทางการค้า)
บทเรียนของโควิด โดยเฉพาะวิวัฒนาการ เป็นบทเรียนทางวิทยาศาสตร์ที่ดียิ่ง เพราะยังไม่เคยมีไวรัสตัวใดที่มีการถอดรหัสพันธุกรรมจำนวนมากมายมหาศาลเป็นล้านๆตัวอย่างกับโควิด 19
และมีการติดตามวิวัฒนาการได้อย่างละเอียดเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ทั้งจีโนมของตัวไวรัส จึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการได้ทำการศึกษา
ประเทศไทยเราเองโดยเฉพาะที่ศูนย์ไวรัสวิทยาทางคลินิก ที่ทำการวิจัยอยู่ ก็ได้มีการถอดรหัสจีโนมl เป็นจำนวนมากเช่นกัน รวมกับสถานที่อื่นๆในประเทศไทยจึงทำให้เขามีข้อมูลของประเทศไทยมากพอสมควรเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสที่ผ่านมา
บทเรียนจากโควิด 19 ที่ผ่านมาทางด้านวิวัฒนาการ เป็นบทเรียนที่ดีมากสำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ไม่เคยมีการศึกษามากเช่นนี้มาก่อน