การลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เมื่อวันที่ 11 - 12 มกราคม ที่ผ่านมา นอกจากการติดตามแก้ไขปัญหาไฟป่า นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความคืบหน้าโครงการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
ปัญหาดังกล่าว เป็นประเด็นที่ภาคเอกชน และประชาชนเมืองเชียงใหม่ให้ความสนใจ เนื่องจากปัจจุบันเชียงใหม่มีปัญหาระบบการขนส่งสาธารณะไม่ตอบสนองความต้องการ และปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก
นายกฤษฏิภาชย์ ทองคำคูณ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท กรีนแคปตอล จำกัด ธุรกิจขนส่งรถโดยสารประจำทางสายเหนือ เสนอแนวทางพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ ว่า ระบบการขนส่งสาธารณะของเชียงใหม่ยังไม่ตอบสนองประชาชนในพื้นที่เชียงใหม่และนักท่องเที่ยว
เนื่องจากเดิมเชียงใหม่โตแต่ในตัวเมือง ปัจจุบันคนอาศัยเกินกว่าวงแหวนรอบที่สาม และเริ่มใกล้ชิดกับอำเภอ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ริม สันทราย สันกำแพง ดอยสะเก็ด สารภี หางดง ทำให้คนเชียงใหม่เดินทางด้วยรถยนต์หรือ จักรยานยนต์ส่วนตัว ทำให้การจรจรติดขัด เช่น ถนนมหิดล การแก้ปัญหา ต้องการเสนอเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ใน 6 อำเภอนี้ควรจะมีควรจะมีเส้นทางหลักกับเส้นทางรองมาสอดรับกัน
ส่วนในพื้นที่เมืองเก่า ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยว จะพักอาศัยและท่องเที่ยวในเมืองเก่า ฉะนั้นฟุตบาทต้องกว้างขึ้น ถนนควรจะเหลือแค่ 2 เลน เป็นวันเวย์ทั้งหมด คัดกรองรถให้เข้าไปน้อยลง เป็นเมือง Good Walk เมืองเดินได้ เมืองเดินดี เมืองสีเขียว มีระบบขนส่งมวลชนที่เป็นไฟฟ้า หา Route 2-3 Route เพื่อตอบสนองกับนักท่องเที่ยวได้
นายกฤษฏิภาชย์ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ ขนส่งสาธารณะควรมีระบบตั๋วมีใบเดียว แล้วใช้ได้ทุกเส้นทาง อาจเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือเป็นรถระบบไฟฟ้ารางเบา หรือ เป็นรถบัส เพราะถ้ามีโครงข่ายที่ดีจำนวนรถจากนอกเมืองที่วิ่งเข้าไปในเมืองจะลดลง เป้าหมายคือให้ตอบสนองการเดินทางของประชาชน
เพราะฉะนั้นต้อง มีระบบ มีผู้ลงทุน และมีผู้ใช้บริการ ขณะที่คนให้บริการในเส้นทางเดิมไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ทั้ง 3-4 สหกรณ์ที่ให้บริการอยู่ในเชียงใหม่ควรจะเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการเปลี่ยนรถจากรถสองแถว ให้เป็นรถมินิบัสที่เป็นไฟฟ้า กระทรวงการคลังควรสนับสนุนดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ
ส่วนรถเมล์ RTC City Bus อาจจะให้ RTC ลงทุนเพิ่ม หรือขยายการลงทุนไปที่ถนนวงแหวนรอบสอง วงแหวนรอบสาม หรือลงทุนร่วมกับสหกรณ์ เช่น ทาง RTC อาจจะลงทุนเรื่องรถ แล้วจ้างสหกรณ์เป็นพนักงานขับรถ หรือให้สหกรณ์ลงทุนแล้ว RTC จ้างขนส่ง การเก็บเงินอยู่ที่ RTC
ดังนั้นต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกล้าลงทุนโดยมีมาตรการใหม่ๆ เช่น รถไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า ซึ่งสามารถลดต้นทุนพลังงานได้ หรือภาครัฐมีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ หรือมีงบประมาณสนับสนุน แล้วผู้ประกอบการสามารถที่จะเอาตัวคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดของ Net Zero ได้ด้วย
นอกจากนั้นทำอย่างไรจะให้สร้างโครงข่ายเรื่องการขนส่งสาธารณะ ซึ่งมี 2 เป้าหมาย คือคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และ2 คนที่มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถ อาจมาเช่ารถ เหมารถ หรือถ้ามี Hop & go ให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ เมืองท่องเที่ยวที่ดี จะมีระบบขนส่งสาธารณะรองรับให้กับนักท่องเที่ยวเรื่องมาตรฐานการขนส่ง การบริการและความปลอดภัย
ส่วนปัญหาการสร้างระบบรางหรือระบบใต้ดิน ที่ผ่านถูกติงว่าไม่คุ้มทุน วิธีแก้คือ อาจจะต้องใช้ระบบบัสเข้ามา หรือ BRT ซึ่ง BRT สามารถที่จะมีเทคโนโลยีใหม่ คือ วิ่งตามเส้นปะของถนนอยู่ใน แท็กแล้วสามารถที่จะใช้ถนนเป็นถนนร่วมกับรถของประชาชนได้ด้วย โดยรอบนอกอาจจะเป็นรถบัสขนาดใหญ่ แต่ในเมืองอาจจะเป็นรถขนาดเล็กลง ก็เกิดความคล่องตัว ถนนเชียงใหม่ไม่ค่อยกว้าง ต้องจัดระเบียบการใช้ถนน กำหนดจุดจอดรถในถนนเส้นใดบ้าง หรืออาจจะต้องให้ไปจอดในซอย เป็นต้น