"สุรพงษ์"กางแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ รับนายกฯลงพื้นที่ 10 ม.ค.

08 ม.ค. 2567 | 06:06 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2567 | 06:28 น.

"สุรพงษ์" พื้นที่ตรวจราชการการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคม เตรียมรับนายกฯ 10 - 12 ม.ค.นี้ พร้อมแจงแผน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ รับฟังแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางราง ทางถนน และทางอากาศ เพื่อเตรียมข้อมูลในการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 10 - 12 มกราคม 2567 โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

"สุรพงษ์"กางแผนพัฒนา โครงข่ายคมนาคม จ.เชียงใหม่  รับนายกฯลงพื้นที่ 10 - 12 ม.ค.นี้

ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่เป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ในลำต้นๆ ของประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้สัมพันธ์กับการขยายตัวของเมืองในทุกด้าน ทั้งทางราง ทางถนน และทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สัญจร แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของภูมิภาค รวมทั้งมีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยนอกวงแหวนรอบเมือง

ดังนั้น การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงและรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นแนวทางเช่นเดียวกับโครงข่ายถนน ประกอบด้วย ระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายประเภท ให้บริการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และเป็นการพัฒนาที่ไม่กระทบต่อวิถีชุมชน และยังคงอัตลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ 

สำหรับแผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่สำคัญ ดังนี้

1. การพัฒนาทางถนน
 - ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 1 (ทางหลวงหมายเลข 11 และ ทางหลวงหมายเลข 1141) ระยะทางรวม 18.238 กิโลเมตร 
- ถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทางหลวงหมายเลข 121 ระยะทางรวม 52.957 กิโลเมตร
- แผนพัฒนาทางแยกระดับถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3
- การพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองแม่ริม อำเภอแม่ริม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ปัจจุบันสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ
- การพัฒนาถนนเลี่ยงเมืองต้นเปา (ชม.3029 - ทล.1006) ระยะทาง 16.50 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างของบประมาณจ่ายค่าเวนคืน

แผนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งมวลชนในจังหวัดเชียงใหม่

2. แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ (CM-PMAP) โดยมีระบบหลัก (Trunk Route, LRT) ประกอบด้วย สายสีแดง ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร จำนวน 12  สถานี สายสีน้ำเงินระยะทาง 10.47 กิโลเมตร จำนวน 13 สถานี สายสีเขียว ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร จำนวน 10  สถานี และระบบ Feeder (รถประจำทาง) ประกอบด้วย ระบบรอง จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 89 กิโลเมตร ระบบเสริม จำนวน 7  เส้นทาง ระยะทาง 85 กิโลเมตร

3. โครงการรถไฟฟ้า (Light Rail Transit : LRT)  สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการดำเนินโครงการที่เหมาะสม และพิจารณาผลการศึกษาเปรียบเทียบร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม 

4. โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ประกอบด้วย ระยะที่1 กรุงเทพมหานคร – พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร ปัจจุบันฝ่ายญี่ปุ่นศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการแล้วเสร็จ และผลการศึกษา R-Map บรรจุเส้นทางอยู่ในแผนงานระยะกลาง (พ.ศ.2571 - 2575) สำหรับระยะที่ 2 พิษณุโลก - เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กิโลเมตร ปัจจุบันผลการศึกษา R-Map บรรจุเส้นทางอยู่ในแผนงานระยะยาว (พ.ศ.2576-2585)

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมทางหลวงพิจารณาขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในภาพรวม สำหรับดำเนินโครงการเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น หรือจัดลำดับความสำคัญแผนงาน และจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในระยะเร่งด่วน (ระยะ 3 ปี) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายทางถนนให้ต่อเนื่องเพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว 

รวมทั้งให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสรวิทยุการบิน เชียงใหม่ เช่น การใช้เป็นพื้นที่เช็กอิน โหลดสัมภาระ หรือพื้นที่พักคอยสำหรับผู้โดยสาร โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ International Civil Aviation Organization (ICAO) รวมทั้งประสานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการร่วมกัน 

นอกจากนี้ มอบให้กรมการขนส่งทางบก กำหนดเส้นทางรถโดยสารสาธารณะ (รถสี่ล้อแดง) สำหรับบริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ให้เหมาะสมตอบโจทย์การเดินทางผู้โดยสารที่ใช้บริการ สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่น PM 2.5 มอบให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณากำหนดมาตรฐานการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ของรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมและปลอดภัย

ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการดำเนินโครงการ อันนำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศ