นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญชวนให้อิตาลีขยายการลงทุนเพิ่มในไทย โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และอิตาลีสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้ อีกทั้งเล็งเห็นว่าไทยก็สามารถใช้อิตาลีเป็นศูนย์กลางไปยังภูมิภาคยุโรปได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่ไทยและอิตาลีมีศักยภาพและมีความสอดคล้องคล้ายคลึงกัน อาทิ การเกษตร การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และผลักดัน Soft Power ในด้านอาหาร การท่องเที่ยว และแฟชั่น
สำหรับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ได้ขอให้อิตาลีสนับสนุนการเจรจา เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว ซึ่งตนเห็นว่าการจัดทำ FTA กับอียู จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และช่วยขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศ รวมถึงอิตาลีด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 24 ของไทย และอันดับที่ 3 จากอียู โดยในช่วง 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยกับอิตาลีมีมูลค่า 4,668.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (161,685.41 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 3.48% มีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็น 0.88% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอิตาลี มูลค่า 1,942.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (66,787.72 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากอิตาลี มูลค่า 2,726.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (94,897.69 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์ เวชกรรมและเภสัชกรรม และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
นอกจากนี้ นายภูมิธรรมยังได้หารือกับนายชานโดร์ ชีโปช (H.E. Mr. Sándor Sipos) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย ถึงแนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน อาทิ การสร้างรายได้โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก การผลักดันการส่งออก การใช้ประโยชน์จาก FTA รวมถึงการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และการเสริมสร้างความสามารถให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถปรับตัวและทำการค้าภายใต้ระเบียบการค้าโลกใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้
ทั้งนี้ได้เชิญชวนฮังการีทำการค้ากับไทยในสินค้าศักยภาพของไทยเพิ่ม อาทิ สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพารา ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ วัสดุก่อสร้างคุณภาพสูง และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มทางเลือกของสินค้าคุณภาพดีให้กับผู้บริโภคในฮังการี และสนับสนุนการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการหาลู่ทางและโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ร่วมกัน อาทิ การขยายตลาด Soft Power ในธุรกิจอาหารและแฟชั่น และได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC
โดยฮังการีให้การสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-อียู เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนช่วยยกระดับมาตรฐานระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายสู่ความเป็นสากล
ทั้งนี้ ฮังการีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 11 ของไทยในอียู และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 51 ของไทยในตลาดโลก โดยในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 2566) การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 719.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า มูลค่า 247.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปฮังการี มูลค่า 483.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากฮังการี มูลค่า 236.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ และวงจรพิมพ์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม