รัฐลุยโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไฮสปีด-อู่ตะเภา2แสนล้าน

14 ม.ค. 2567 | 06:12 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ม.ค. 2567 | 07:07 น.

รัฐลุยโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไฮสปีด-อู่ตะเภา แสนล้าน กรมทางหลวง เปิดแผนพัฒนามอเตอร์เวย์ในอีอีซี ปี2566-2585 จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 220,469 ล้าน

 

รัฐบาลลงทุน โครงการสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งพื้นที่นี้ยังถูกตั้งเป้าให้เป็นหมุดหมายใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งการการลงทุน การท่องเที่ยว และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา), เมืองการบินภาคตะวันออก ,ท่าเรือนํ้าลึกแหลมฉบัง, ท่าเรือนํ้าลึกมาบตาพุด, ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

เพื่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจ ส่งเสริมการขยายตลาดและเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวในหลากหลายมิติ พร้อมทั้งเชื่อมโยงฐานการผลิต ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกของจังหวัดทางภาคตะวันออกกับประตูการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ

โดยกรมทางหลวง (ทล.) มีโครงข่ายในเขตพื้นที่อีอีซีที่เปิดให้บริการแล้ว คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพ-ชลบุรี-มาบตาพุด ส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทางรวม 32 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 17,784 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ตามแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางระยะ 20 ปี (ปี2566-2585) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map: MR-MAP) โดยทล.มีแผนพัฒนามอเตอร์เวย์ในพื้นที่อีอีซี ระหว่างปี ปี2566-2585 จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 220,469 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการมอเตอร์เวย์ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 4,400 ล้านบาท และค่าเวนคืน 108 ล้านบาท ปัจจุบัน

 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) ชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 215,961 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 193,194 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดิน 22,767 ล้านบาท เบื้องต้นโครงการฯจะแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี ระยะทาง 156 กิโลเมตร วงเงิน 115,366 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2571 และเปิดให้บริการในปี 2577 ขณะที่ระยะที่ 2 ช่วงปราจีนบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 159 กิโลเมตร วงเงิน 148,443 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2581 และเปิดให้บริการในปี 2585

ด้านกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีโครงการที่อยู่ในจังหวัดอีอีซี วงเงินรวม 2,298 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการถนนสายชบ.3023 แยกทล.315-บ.หนองปลาไหล อ.พานทอง,บ้านบึง จ.ชลบุรี ระยะทาง 12.24 กิโลเมตร วงเงิน 879 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
  2. โครงการถนนสาย ฉช.2004 แยก ทล.34-ทล.314 อ.บางปะกง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา (ตอนที่ 1) ระยะทาง 4.4 กิโลเมตร วงเงิน 549 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง
  3.  โครงการถนนสาย ฉช.2004 แยก ทล.34-ทล.314 อ.บางปะกง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา (ตอนที่ 2) ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร วงเงิน 870 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามร่างพรบ.ปี67 โดยคาดว่าทั้ง 3 โครงการจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569 มีโครงการที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์หลายโครงการฯในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ โครงการถนนทางหลวงชนบทสาย รย.5050 แยกสายนิคมสร้างตนเองสาย 15 บ้านห้วยโป่ง อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร วงเงิน 204 ล้านบาท, โครงการถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยก ทล.3138-ทล.344 อำเภอบ้านค่าย วังจันทร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 32.807 กิโลเมตร วงเงิน 159 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมี โครงการถนนทางหลวงชนบทสายแยก ทล.7-ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 10.570 กิโลเมตร วงเงิน 1,499 ล้านบาท ,โครงการถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 314-ลาดกระบัง จังหวัดฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ ระยะทาง 20.329 กิโลเมตร วงเงิน 3,712 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สกพอ. และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้มีการนำเสนอข้อมูลแนวเส้นทางและรูปแบบระบบขนส่งมวลชนรองของโครงการ โดยโครงการได้ศึกษาโครงข่ายให้มีการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่เมืองใหม่กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำนวน 3 แนวเส้นทาง ได้แก่

  1. แนวเส้นทางด้านเหนือ เมืองใหม่ อีอีซี-สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา,
  2. แนวเส้นทางด้านตะวันตก เมืองใหม่ อีอีซี-สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา,
  3. แนวเส้นทางด้านใต้ เมืองใหม่ อีอีซี-สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา ซึ่งจากผลการเปรียบเทียบความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น พบว่า แนวเส้นทางด้านใต้ เมืองใหม่ อีอีซี-สถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา เป็นแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดเพื่อนำมาเป็นโครงการนำร่อง