การประชุมร่วม3 ฝ่าย ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.), สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นการประชุมคณะทำงานเจรจาหลักการเพื่อการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ครั้งที่ 5/2566 (ครั้งที่ 14) ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566ที่ผ่านมา
ล่าสุดได้ข้อสรุปการแก้ไขสัญญาในส่วนของการแบ่งจ่ายค่างวดสิทธิบริหาร โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนกรณีพื้นที่ทับซ้อน ไฮสปีด ไทย-จีน คาดว่าจะเจรจากับเอกชน อีกครั้งในภายหลัง แต่จะเร่งก่อสร้างช่วง สุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาก่อน เพื่อลดผลกระทบ จากความล่าช้า
นายอนันต์ โพธ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะทำงานเจรจาหลักการเพื่อการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โครงการไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ครั้งที่ 5/2566 (ครั้งที่ 14) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรฟท.เป็นประธาน
เบื้องต้นที่ประชุมได้ข้อสรุปการแก้ไขสัญญาในหลักการตามมติ กพอ.และจะมีการสรุปรายละเอียด เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) พิจารณา ก่อนเสนอต่อสำนักอัยการสูงสุดพิจารณาภายในเดือนมกราคม 2567
ทั้งนี้กระบวนการต่างๆ จะใช้เวลาพิจารณา 30 วัน หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 หากแล้วเสร็จ ทางเอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 3 งวดย้อนหลัง วงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท
รายละเอียดของการแก้ไขสัญญาโครงการฯ ในครั้งนี้ จะสอดคล้องกับมติของ กพอ. ประกอบด้วย 3 เรื่อง
1.การชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในการผ่อนชำระ 7 งวด จากกรณีที่เอกชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
2. แนบท้ายสัญญาที่มีเงื่อนไขหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในอนาคตจะสามารถเจรจาร่วมกับเอกชนได้
และ 3. การก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง
“วันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันเรื่องแก้ไขสัญญาในประเด็นสำคัญเรื่องการทยอยจ่ายสิทธิบริหารแอร์ พอร์ต เรลลิงก์ และการจัดทำแนบท้ายสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยในอนาคต ส่วนประเด็นก่อสร้างทางร่วมช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาดังนั้นเรื่องนี้ยังมีเวลาที่จะเจรจาร่วมกัน”
ทั้งนี้การก่อสร้างโครงสร้างร่วม ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง บริเวณพื้นที่ทับซ้อนไฮสปีด ไทย-จีน ตามมติ กพอ.มีแนวทาง คือ รฟท.ต้องเจรจากับเอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง โดยต้องก่อสร้างให้สอดคล้องกับทางมาตรฐานจีนที่รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วย แต่หากเอกชนไม่ยอมก่อสร้างทางรฟท.ต้องเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างแทนโดยรฟท.อยากให้ระยะเวลาดำเนินการกระชับที่สุดเพราะไม่อยากให้กระทบต่อการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ทั้งนี้ความเป็นไปได้มากที่สุด คือ เอกชนคู่สัญญาควรเป็นผู้ก่อสร้างซึ่งรฟท.อยู่ระหว่างคำนวณระยะเวลาดำเนินการให้เหมาะส คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมกราคม 2567
นอกจากนี้ในประเด็นที่เอกชนยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนจากบีโอไอนั้น เรื่องนี้เป็นขั้นตอนในการยื่นบัตรส่งเสริม โดยต้องกรอกรายละเอียดของการลงทุนของสัญญา ซึ่งเอกชนมองว่าการแก้ไขร่างสัญญาอาจจะมีผลด้านการเงิน เช่น ในกรณีที่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างทางร่วมอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ปัจจุบันรฟท.จึงอยู่ระหว่างหารือต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อขอออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) โดยไม่ต้องรอบัตรส่งเสริมด้านการลงทุน
“ขณะนี้ รฟท.มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แก่เอกชนครบ 100% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 แล้ว รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ และการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการฯ (TOD มักกะสัน) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพิกถอนลำรางสาธารณะ คาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานได้เร็วๆ นี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากบีโอไอด้วย โดยเอกชนมีสิทธิขอยื่นบัตรส่งเสริมด้านการลงทุนต่อบีโอไอได้ 3 ครั้ง ขณะนี้เอกชนได้ยื่นไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 มกราคม 2567”
หาก ครม.เห็นชอบให้แก้ไขสัญญาและมีการลงนามร่วมกับเอกชนแล้วนั้น ทางเอกชนจะต้องเริ่มจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่เสนอขอผ่อนจ่ายรวม 7 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาทโดยเมื่อลงนามสัญญาแล้วเสร็จ เอกชนจะต้องจ่ายค่าสิทธิรวม 3 งวด ย้อนหลังของปี 2564-2566 ส่วนที่เหลืออีก 4 งวดจ่ายตามกำหนดสัญญาภายในวันที่ 24 ตุลาคมของแต่ละปี
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า สำหรับประเด็นการส่งมอบพื้นที่โครงการฯและการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการฯ (TOD มักกะสัน และศรีราชา) ของรฟท. ให้เอกชน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนฯ
โดยเอกชนร้องขอให้รฟท. และสกพอ. สนับสนุนการขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์บริเวณ TOD มักกะสันนั้น ขณะนี้สกพอ.อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครเพื่อเห็นชอบกรณีการขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์ หากสภาฯเห็นชอบแล้วจะต้องรายงานกลับมาที่สกพอ.และ รฟท. เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวไปพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางรถไฟ
“เรื่องนี้เราทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโดยตรง ยืนยันว่าการถอนพื้นที่ลำรางสาธารณะจะไม่กระทบต่อการออก NTP และการแก้ไขสัญญาไฮสปีด เพราะการออก NTP เหลืองเพียงเรื่องเดียวคือการออกบัตรส่งเสริมด้านการลงทุน (BOI) เพราะรฟท.มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่อยู่แล้ว”
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 1/2566 ในช่วงที่ผ่านมามีมติให้เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน ในส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไทถึงบางซื่อให้เสร็จภายในพฤษภาคม 2567 ส่วนพื้นที่อื่นมีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างไฮสปีดและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (transit oriented development, TOD) แล้ว ทั้งนี้ตามแผนงานกำหนดจะทยอยเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2567
อย่างไรก็ตามการหารือร่วมกับเอกชนเพื่อดำเนินการการแก้ไขสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ เบื้องต้นทางเอกชนแจ้งว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จ ขณะที่ประเด็นพื้นที่โครงสร้างร่วมที่ทับซ้อนกับ ไฮสปีดไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งกระทรวงคมนาคมและรฟท.จะรับเรื่องไปพิจารณาเพื่อหาข้อยุติ
“เรื่องพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเจรจาแล้วจบภายในเดือนธันวาคมนี้ เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงงานส่วนที่เหลือที่สามารถทยอยดำเนินการไปได้ ซึ่งไม่ใช่งานหลักของโครงการนี้โดยตรง”
นายจุฬา กล่าวต่อว่า หากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมบางซื่อ-ดอนเมือง ยังเจรจาไม่ได้ข้อยุติ ทางเอกชนจะนำมาเป็นเงื่อนไขต่อรองในการออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) หรือไม่นั้น ทางเรามองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เงื่อนไขในการออก NTP ซึ่งสามารถเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ในภายหลังได้ เพราะโครงการไฮสปีดฯมุ่งเน้นดำเนินการเส้นทางจากมักกะสัน-สนามบินอู่ตะเภามากกว่า