วันนี้ (17 มกราคม 2567) ที่รัฐสภา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวถึงการเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท จำนวน 50 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับข้อกฎหมายและมีการเผยแพร่เอกสารรายงานผลการศึกษาและข้อแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายจุลพันธ์กล่าวว่า หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เมื่อได้เห็นหนังสือตอบกลับของคณะกรรมการกฤษฎีกา คำตอบเชิงกฎหมาย ไม่มีการไฟเขียว ไฟแดง ไม่ได้ห้าม และไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า เพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นความเห็นทางข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเลตมีหน้าที่รับฟังและปฏิบัติตาม เพื่อให้เข้าสู่กรอบของกฎหมายให้ได้ในทีสุด
"แต่เมื่อหนังสือของ ป.ป.ช.มา หากเป็นจริง ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า มีการวางธงไว้ชัดเจนในการที่จะไม่ให้โครงการนี้เดินหน้าได้ แม้นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการรับรองผ่านประชาชน ผ่านการเลือกตั้ง และมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม"นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวว่า มีบางกลุ่มบางองค์กร เช่น หนังสือของ ป.ป.ช. หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นที่แตกต่าง อาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำ อาจจะยังมองไม่เห็นวิกฤตเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลพยายามที่จะบอกอยู่
"วิกฤตในขณะนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่วิกฤตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของโครงสร้างเศรษฐกิจเท่านั้น แต่กลายเป็นวิกฤตเห็นอกเห็นใจกับพี่น้องประชาชนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ democracy without empathy ทุนนิยมที่ไม่มีหัวใจที่จะไปเข้าใจถึงผู้ที่เดือดร้อน แสดงให้เห็นมาตลอดว่าล้มเหลว"นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ส่งหนังสือรายงานข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และจะเชิญคณะกรรมการนโยบายเงินดิจิทัลฯ มาประชุมเพื่อนำความเห็นของ ป.ป.ช. กฤษฎีกามาพิจารณาในคราวเดียวกัน แล้วจึงจะได้เริ่มกระบวนการในการฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ทำความเข้าใจหน่วยงานหรือองค์กรใด ๆ ที่ยังไม่เห็นเจตนาดีที่รัฐบาลพยายามจะทำ ยังมองไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชน เราก็ต้องสื่อสารให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันและเดินหน้านโยบายนี้ให้ได้ในที่สุด
"เหตุผลที่เราต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ยังขาดความเข้าใจ ว่า สิ่งที่เราต้องเดินหน้านี้ เหตุผลคืออะไร และความเดือดร้อนของประชาชนคืออะไร รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เป็นอนุบาลทางการเมือง เราเห็นอยู่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่พยายามทำให้มันเป็นคืออะไร เรามีหน้าที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และได้รับความยอมรับจากทุกภาคส่วน และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ เป็นสิ่งที่เรายึดเป็นธงหลักและเราต้องทำให้สำเร็จ"นายจุลพันธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากไม่ทันไทม์ไลน์เดิมในเดือนพฤษภาคมแล้วหลังจากนี้รัฐบาลถอยได้อีกแค่ไหน นายจุลพันธ์กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดกันในเรื่องลดวงเงิน ซึ่งเราลดมาแล้วรอบหนึ่งคือการตัดเหลือ 50 ล้านคน กรอบการเดินหน้ายังเหมือนเดิม เช่น วงเงินในการแจก ระยะเวลาในการจ่ายเงินครั้งเดียว และยังไม่ได้ล้มเลิกการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท