รายละเอียดเอกสารข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ต่อ โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล มีเนื้อหาสำคัญนอกเหนือไปจากข้อเสนอแนะรวม 8 ข้อ ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะปมปัญหาค้างคาใจเกี่ยวกับการเดินหน้าการออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญนั่นคือเศรษฐกิจต้องอยู่ใน “ภาวะวิกฤต” ซึ่งเอกสารฉบับนี้มีคำตอบสำหรับประเด็นร้อนนี้แจ้งไว้อย่างชัดเจน
โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการเพื่อศึกษาและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ของ ป.ป.ช.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 4 หน่วยงาน คือ กรมสรรพากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งยังมี สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ความเห็น
พร้อมทั้งศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวบ่งชี้วิกฤติทางเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในอีก 2 – 3 ปี ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การบริโภคภาคเอกชน ตัวทวีคูณทางการคลัง และภาระทางการคลัง สรุปได้ดังนี้
จากคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้กล่าวย้ำว่า นโยบายดังกล่าวมิใช่เป็นการสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาลในการผลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเพียงใด
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะพบว่า ได้มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2566 ไปในทิศทางเดียวกัน โดยข้อมูลของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% โดยในระยะปานกลางจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3%
ข้อมูลจากหลายหน่วยงาน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง รวมทั้งจากนักวิชาการเศรษฐศาสตร์อิสระ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัย มีการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า “ไม่เข้าข่ายวิกฤต” และยังไม่เห็นสัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย (ตามนิยามของธนาคารโลก)
แต่อาจมีการเจริญเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวหรือต่ำกว่าศักยภาพ และเมื่อเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันกับภาวะวิกฤตตามนิยามของธนาคารโลก และ IMF เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 วิกฤต Global Financial Crisis (GFC) ปี 2551-2552 วิกฤตมหาอุทกภัยในช่วงปี 2555 วิกฤต COVID-19 ปี 2563 – 2564 พบว่า ยังไม่เข้าข่ายภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
หากพิจารณาข้อมูลจากผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 และวันที่ 13 ธันวาคม 2566 พบว่า ส่วนต่างระหว่างการเติบโตของ GDP ในปี 2567 จากการไม่รวมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กับการรวมโครงการฯ จะอยู่ที่ +0.6% (ไม่รวมโครงการ 3.2% / รวมโครงการฯ 3.8%)
ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปี 2568 จะมีส่วนต่างการเติบโตของ GDP อยู่ที่ -0.3% (ไม่รวมโครงการ 3.1% / รวมโครงการฯ 2.8%)
โดย กนง. ประเมินว่า กระบวนการของ พ.ร.บ. กู้เงิน จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการและคาดว่าผลดีของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าโครงการจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี
ทั้งนี้ ผลการศึกษาเชิงประจักษ์พบว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ในกรณีมาตรการเงินโอนให้กับประชาชน (transfer) มักต่ำกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนโดยตรงของรัฐบาล โดยขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินโอน เงื่อนไขการใช้จ่าย และสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ใหม่ในระบบเศรษฐกิจ (new final demand)
นอกจากนี้ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่าตัวทวีคูณทางการคลังในกรณีที่เป็นเงินโอนจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% อยู่ที่การประเมินผลต่อเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับขนาดวงเงินของโครงการและเวลาที่เริ่มโครงการด้วย
โดยแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีมากในช่วงเริ่มต้น (front-load) และมีผลชั่วคราว ทำให้ในปี พ.ศ. 2568 มีการคาดการณ์ตัวเลข GDP ในกรณีที่รวมผลจากโครงการฯ น้อยกว่าไม่รวมโครงการฯ ดังนั้น ในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ เปรียบเทียบกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันจากข้อมูลของสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) ได้มีการประเมินผลกระทบทางการคลัง ที่สำคัญของโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดังนี้
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากต้องใช้งบประมาณสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อาจจะต้องปรับลดงบประมาณหรืองบลงทุนของหน่วยงาน ซึ่งย่อมกระทบต่อหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาการดำเนินการที่อาจต้องเลื่อนออกไป อาทิ งานก่อสร้างที่อาจจะต้องมีการขยายระยะเวลา ซึ่งกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ
อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทวิเคราะห์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ Moody’s S&P Global Ratings และ Fitch Ratings พบว่าส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และหากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าที่มีการประมาณการไว้
ประกอบกับรัฐบาลตัดสินใจดำเนินนโยบายที่มีความเสี่ยงทางการเงินการคลัง ก็อาจส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือได้ (Credit Rating) ซึ่งหาก Credit Rating ลดลง ย่อมมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมภาคเอกชนในประเทศ
ดังนั้น การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุลจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็นเพียงใด ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต
โดยในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ตามนิยามวิกฤตเศรษฐกิจของธนาคารโลก
ด้วยเหตุนี้จึงควรจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า