นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.8 ปรับตัวลดลง จาก 90.9 ในเดือนพฤศจิกายน โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะที่ดัชนีฯ ต้นทุนประกอบการปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมีปัจจัยเสี่ยงจากภาคการผลิตชะลอลง เนื่องจากวันทำงานน้อยและวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับผู้ผลิตได้เร่งการผลิตในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งยังมีปัญหาการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง
นอกจากนี้ภาคการก่อสร้างชะลอตัวลงโดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างลดลง ด้านการส่งออกประสบปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น จากกรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนโจมตีเรือขนส่งสินค้าพาณิชย์ที่แล่นผ่านทะเลแดง ส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป
อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคมยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการสินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแฟชั่น ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และอานิสงค์การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
ด้านภาคการส่งออกมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่องจากอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าทยอยฟื้นตัว นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ โดยการปรับลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,309 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนธันวาคม 2566 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 81.1% ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 72.2% ,อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 45.2%
ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 48.5% ,เศรษฐกิจในประเทศ 43% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 38.5%
ขณะที่ดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวลดลง จาก 97.3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยมีปัจจัยกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่กระทบต่อต้นทุนประกอบการ ตลอดจนความไม่แน่นอนของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (commodities) ปรับตัวสูงขึ้นทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2567 ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย