"กนอ."ห่วงราคาสินค้าพุ่ง เหตุ"กปน."ขึ้นค่าน้ำประปานิคมอุตสาหกรรม

18 ม.ค. 2567 | 04:21 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 04:22 น.

"กนอ."ห่วงราคาสินค้าพุ่ง เหตุ"กปน."ขึ้นค่าน้ำประปานิคมอุตสาหกรรม ระบุ กปน. มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำ วอนขอระยะเวลาที่ยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว หรือขึ้นปีละ 1 ปีไม่ปรับรวดเดียว

จากกรณีที่การประปานครหลวง (กปน.) ได้ให้สิทธิการคิดค่าน้ำประปาในอัตราพิเศษแบบขายเหมา (Bulk Sale) แก่ภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในอัตราลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ละ 13 บาท มาตั้งแต่ปี 2542 

ล่าสุด กปน.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอยกเลิกการให้สิทธิดังกล่าว และได้เรียกเก็บแบบใหม่ในอัตราการทั่วไปที่คิดแบบขั้นบันได ในอัตราสูงสุดที่ 15.81 บาทต่อลบ.ม. (เพิ่มขึ้น 21.6%) ซึ่งมีผลในใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น

ต่อเรื่องดังกล่าวนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ระบุกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กปน.มีอำนาจในการขึ้นราคาตามกฎหมาย แต่ กนอ.ในฐานะตัวแทนของผู้ใช้ที่กำลังเดือดร้อนจากการขึ้นราคาดังกล่าว ซึ่งกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมก็ต้องดำเนินการในส่วนที่พอจะทำได้

ทั้งนี้ มองว่าหาก กปน. จะขึ้นราคาก็คงต้องน้อมรับ และปฏิบัติตาม แต่ กนอ.เองก็ต้องการขอระยะเวลาที่ยืดหยุ่น เช่น 3-6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวกับระบบการผลิต หรือปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ  เช่น ใช้น้ำน้อยลง

"กนอ."ห่วงราคาสินค้าพุ่ง เหตุ กปน. ขึ้นค่าน้ำประปานิคมอุตสาหกรรม

ส่วนการปรับขึ้นราคาจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขึ้นแบบขั้นบันได หรือเป็นสเต็ป เช่น ปีละ 1 บาท เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าสูงเกินไป เพราะการปรับขึ้นราคาครั้งเดียว 3 บาท จะเท่ากับเกือบ 20% ซึ่งถือว่าสูงมาก

"กนอ.พยายามขอความอนุเคราะห์เรื่องดังกล่าว โดยมีปัจจัยสนับสนุนซึ่งมาจากเวลาที่ กปน.ขายน้ำประปาให้ กนอ. จะมาทางท่อเดียว หลังจากนั้น กนอ. ต้องไปสร้างท่อของตนเองเพื่อแจกจ่ายน้ำไปตามโรงงานต่างๆ เวลาที่มีการเปลี่ยนท่อ การซ่อมมิเตอร์ในนิคมอุตสาหกรรม กนอ. ก็รับผิดชอบเอง โดย กปอ.มีหน้าที่เพียงแค่ส่งน้ำมาท่อเดียว จึงไม่ได้มีต้นทุนอะไรมากนัก โดยเป็นสิ่งที่ กนอ. ทำมาตลอด 24 ปีที่ผ่านมา"

นายวีริศ กล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการเองมีการเข้ามารือกับ กนอ. บ้างในเรื่องดังกล่าว และรอดูว่าสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างไร โดยมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มที่ใช้น้ำมาก เช่นอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งรอดูอยู่ว่า กปน. จะยืดหยุ่นให้ได้อย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กนอ. ได้มีการหารือกับ กปน.ไปแล้ว 3 รอบ แต่คาดว่าน่าจะต้องมีการหารือกันอีก 4-5 รอบถ้ามีความจำเป็น โดยมองว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะสามารถตกลงกันได้ด้วยดี 

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเมื่อมีการขึ้นน้ำประปาดังกล่าวจะกระทบอุตสาหกรรมากแค่ไหน บางรายให้ความเห็นการขึ้นราคา 3 บาท เมื่อนำเฉลี่ยกับต้นทุนด้านอื่น ก็อาจจะหายไป ไม่ได้รูึกอะไรมาก 

แต่ในขณะเดียวกัน กนอ. เองก็มองว่าในเบื้องต้นอาจจะยังไม่เห็นได้ชัด แต่เมื่อเวลาผ่านในระยะหนึ่ง เมื่อรวมกับค่าสาธารณูปโภคอื่นที่มีการขยับขึ้น ลง เช่น ค่าไฟ ก็จะทำให้เป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และสุดท้ายก็จะกระทบไปยังผู้บริโภคได้

ส่วนจะกระทบต่อแรงดึงดูดการลงทุนจาก ตปท. หรือไม่นั้น กนอ. เองพยายามไม่ให้ภาพที่สื่อสารออกไปในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะ กปน. เองก็ดูแลแค่พื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมมีค่อนข้างจำกัด แต่การขยายโรงงานเพื่อให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนจะเป็นพื้นที่อื่นมากกว่า ไม่ใช่พื่้นที่ กปน. และนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.ที่อยู่ในพื้นที่ของ กปน. ก็ค่อนข้างเต็มหมดแล้ว