"พิมพ์ภัทรา"ดันชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้นแบบอุตฯปาล์มน้ำมันครบวงจร

22 ม.ค. 2567 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ม.ค. 2567 | 04:45 น.

"พิมพ์ภัทรา"ดันชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้นแบบอุตฯปาล์มน้ำมันครบวงจร รุกเพิ่มมูลค่าจากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล หนุนเงินทุน ขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่นของหม้อน้ำ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ และลงพื้นที่
ตรวจเยี่ยมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ปี 2567 กระทรวงฯ เตรียมที่จะส่งเสริมและพัฒนาบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) 

ซึ่งประกอบกิจการสกัดน้ำมันปาล์ม กลั่นและแยกไข บรรจุน้ำมันพืช ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ และผลิตปุ๋ยจากตะกอนน้ำเสียให้เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอย่างยั่งยืน อุตสาหกรรมวิถีใหม่ 

รวมถึงเป็นพี่เลี้ยงให้กับสถานประกอบการอื่นๆ ในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มมูลค่า by product จากการสกัดและแยกไขสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคอล (Oleochemical) สนับสนุนเงินทุนหรือขยายเวลาเรื่องการติดตั้งระบบ CEMs และระบบดักฝุ่น (ESP) ของหม้อน้ำ
 

"บริษัทชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มตาม Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) และมาตรฐาน ISO 9001:2015, GHPs, HACCP, HALAL และ KOSHER"

"พิมพ์ภัทรา"ดันชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้นแบบอุตฯปาล์มน้ำมันครบวงจร

นอกจากนี้ กระทรวงฯ เตรียมที่จะเข้าไปให้การส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนฯ ในด้านต่างๆ อาทิ พัฒนากระบวนการผลิต เช่น การปรับปรุงอาคารล้าง การขยายขนาดเครื่องอบร้อน เป็นต้น หรือการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งเสริมการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ลูกอมกาแฟ และส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์

หลังจากที่ก่อนหน้านี้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ได้รับการรับรองมาตรฐานสาธารณสุข อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้เข้าร่วมโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 1 จังหวัด 1 ชุมชน (OPOAI -C) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกอมกาแฟ มูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 23,600 บาทต่อปี  

“ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ถือว่าเป็นสถานประกอบการที่มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดได้เป็นอย่างดี"

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า กระทรวงฯจะให้การสนับสนุนตามการร้องขอของผู้ประกอบการ เพื่อให้การพัฒนาธุรกิจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าไว้ คือ การเพิ่มผลผลิต การดูแลสิ่งแวดล้อม การดูแลชุมชน การพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง 

ขณะที่ในส่วนของปัญหา อุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ได้ร้องขอมานั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอ ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องบางฉบับไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วยังถูกมองว่าเป็นขยะ ผู้ประกอบการขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียน และระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการในพื้นที่ยังไม่เพียงพอนั้น กระทรวงฯจะนำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการให้เรียบร้อย และแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ หรือเกิดการสะดุดในระหว่างประกอบกิจการได้

จังหวัดชุมพร มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP : Gross Provincial Product) 130,074 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 22 ของประเทศ และลำดับ 4 ของภาคใต้ รองจากจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีรายได้ GPP (GPP Per Capital) ต่อคนมูลค่า 259,853 บาทต่อคนต่อปี อยู่ในลำดับที่ 11 ของประเทศ และลำดับที่ 1 ของภาคใต้  

โดยมีภาคธุรกิจหลักๆ คือ อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยว 35.64% มูลค่า 46,362 ล้านบาท ภาคการเกษตรกรรม 56.75% มูลค่า73,812 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 7.61% มูลค่า 9,899 ล้านบาท และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ยางพารา มะพร้าว และกาแฟ เป็นต้น

“ชุมพรเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหลายด้าน ซึ่งหากมีการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเหมาะสม จะช่วยให้จังหวัดชุมพรสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้”