นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ช่วงปลาเดือน ม.ค. 67 จะดำเนินการเชิญ 10 สมาคมชิ้นส่วนยานยนต์และที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สมาคมไทยคอมโพสิท มาหารือร่วมกัน โดยมีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน
ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนปัญหา และหาแนวทางช่วยเหลือให้กับธุรกิจ หากมีปัญหาอะไร ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล กระทรวงอุตฯ จะได้หาข้อสรุปและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) นั้น ยังอยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวมานาน เกิดความเสียหายวงกว้าง กรมฯต้องเข้าไปดูแลอย่างเข้มข้นในกลุ่มธุรกิจที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเปลี่ยนผู้เล่นในตลาด จากญี่ปุ่น เป็นจีน
“รมว.อุตสาหกรรมมีความเป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก โดยมอบนโยบายให้กรมฯ เข้าไปเจาะลึกปัญหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่ม เพื่อแก้ได้ถูกจุด"
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าตอนนี้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กของชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงจากรถสันดาป มาเป็นรถอีวี (EV) ที่ใช้ชิ้นส่วนลดลงมาก
แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนผู้เล่นในอุตสาหกรรม คือจากญี่ปุ่น เป็นจีน ซึ่งส่วนหนึ่งจีนไม่ได้ใช้ซัพพลายเออร์ในไทย แต่เลือกใช้จากผู้ผลิตในจีนเอง ถ้าไม่เร่งเข้ามาช่วยเหลือ บางรายอาจถึงขั้นต้องปิดตัวและปรับเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ใช้ทักษะที่มีหรือพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางรอด ซึ่งกรมฯ จะนำข้อสรุปในที่ประชุมทั้งหมด เพื่อมาช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป
ส่วนทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายของดีพร้อม ปี 67 นั้น กรมฯได้ตั้งเป้าหมายการส่งเสริมและพัฒนายกระดับผู้ประกอบการกว่า 18,400 ราย คาดจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใต้งบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท
และล่าสุดรัฐบาลเตรียมจัดงบประมาณกลางเพิ่มให้อีก 800 ล้านบาท แบ่งเป็นซอฟท์พาวเวอร์ 700 ล้านบาท แยกเป็นอาหาร 600 ล้านบาท แฟชั่น 100 ล้าน และในส่วนของบีซีจีอีก 100 ล้านบาท ดังนั้นด้วยงบประมาณที่เพิ่มเป็นเกือบ 2,000 ล้านบาท คาดว่า จะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มถึง 20,000 ล้านบาทได้