โฆษกรัฐบาลเปิดเอกสารลับ เศรษฐกิจไทยปี 66 โต 1.8% อัด ธปท. ประเมินสูง

23 ม.ค. 2567 | 01:55 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ม.ค. 2567 | 02:09 น.

โฆษกรัฐบาล เปิดเอกสารลับการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ ปี 2567 ของกระทรวงการคลัง คาด GDP ปี 66 โตแค่ 1.8% ชะลอลงจากปีก่อนที่โต 2.6% อัดธปท. ประเมินตัวเลขสูง ส่วนปีนี้คาดโต 2.8%

วันนี้ (23 มกราคม 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่เอกสารลับการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และ ปี 2567 ของกระทรวงการคลัง โดยระบุว่า สรุปแล้วผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2566 เติบโตเพียง 1.8% เทียบกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เอาไว้เมื่อต้นปี 2566 ว่าจะเติบโตถึง 3.6% ถือเป็นการเติบโตที่ถดถอยลงกว่าปี 2565 ที่เติบโต 2.6%

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ 1.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.6 - 2.0%) ชะลอลงจากปี 2565 ที่ขยาย 2.6% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัวที่ -1.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ -1.8 ถึง -1.3%) ซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ที่ซะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.9 (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 ถึง -1.7%)

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาจากภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวสูง และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.8% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3 ถึง 3.3% ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปี 2566 และเป็นการขยายตัวที่มาจากทุกเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวสูง

สำหรับภาคการท่องเที่ยวคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 33.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 19.5% ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและมาเลเซียเป็นสำคัญ และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากนั้น คาดว่าการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อย ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 4.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.7 ถึง 4.7% และมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.5 ถึง 4.5%)

สำหรับอุปสงค์ภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.8 ถึง 3.8%) ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆในประเทศ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ 3.2% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.7 ถึง 3.7%) ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.0% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5 ถึง 1.5%) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี 

ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.8% ของ GDP

ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น กระทรวงการคลังแนะว่าควรให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ดังนี้ 

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) เช่น การพัฒนาการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การลงทุนในด้านดิจิทัส และการพัฒนาด้านคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ และทำให้ประเทศไทยสามารถป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคได้ 

2. การพัฒนาทักษะ (SkillsDevelopment การเตรียมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจโลกมีความสำคัญและจะส่งเสริมความสำเร็จในระยะยาวได้ดี

3. การรักษาเสถียรภาพทางการคลัง (Fiscal Stabity) มุ่งมั่นในการบริหารจัดการการคลังอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงการใช้จ่ายของรัฐและระดับหนี้สาธารณะอย่างรับผิดชอบ เพื่อรักษาความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้

นอกจากนั้น ยังควรติดตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด อาทิ 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นข้อจำกัดและส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ สถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น และความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเชียและยูเครน

2. สถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศอินเดีย เป็นต้น ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทย

3. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป 

4. สถานการณ์เศรษฐกิจของจีน ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย