KEY
POINTS
โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย - อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ชุมพร - ระนอง มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท เมกะโปรเจกต์สำคัญของรัฐบาล "เศรษฐา ทวีสิน" แม้จะยังไม่เป็นรูปร่าง เพราะมีแค่พิมพ์เขียวคือผลการศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจับตา นั่นคือความพยายามผลักดันออกมา และเร่งโปรโมทชักชวนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ยกคณะพื้นที่ไปยังจุดที่จะทำโครงการเป็นครั้งแรก บริเวณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ในช่วงการเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร โดยนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเดินทางลงพื้นที่ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ ในรอบ 20-30 ปีของประเทศไทย ที่จะนำความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ
ขณะเดียวกันในด้านของผลกระทบต่าง ๆ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิตประชาชน และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลยอมรับว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะทำการศึกษาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการจริง ต้องศึกษาเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ที่ผ่านมา มีรายงานผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร ตอนหนึ่งระบุถึงผลกระทบโครงการในมิติด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างน่าสนใจ
โดยยอมรับว่า การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะทรัพยากรทางน้ำ ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงที่ดินในการดำเนินการโครงการเพราะเป็นทั้งพื้นของรัฐและพื้นที่ของประชาชนในพื้นที่โครงการ
กมธ.แลนด์บริดจ์ สภาผู้แทนราษฎร จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ทั้งผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ และ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นประเด็นที่จะต้องมาพิจารณาหาแนวทางในการดำเนินการให้ดีที่สุดและสามารถหาแนวทางในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาและหาทางออกด้วยกัน ดังนี้
การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่เป็นรอยต่อทางชีวภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งของโลก และได้นำเสนอความเป็นมาของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ที่เสนอเป็นมรดกโลก 6 แห่ง โดยการบริหารจัดการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่
ขณะที่พื้นที่ที่บริหารจัดการโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑล ป่าชายเลน จังหวัดระนอง และพื้นที่แนวกันชน 3 กิโลเมตร โดยรอบพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน รวมพื้นที่ทั้งหมด 1,817,500 ไร่
สำหรับหมู่เกาะระนองและอุทยานแห่งชาติแหลมสนเป็นพื้นที่ตามโครงการแลนด์บริดจ์ จะมีเส้นทางระบบราง ระบบถนน รวมถึงท่าเรือ ที่จะอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองและอยู่ทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติแหลมสน
แหล่งศึกษาดังกล่าวมีการอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนขนาดใหญ่ มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล พบพันธุ์ไม้ที่จัดอยู่ในสภาพที่ต้องเฝ้าระวังหรือมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์
รวมทั้งเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีระบบนิเวศชายฝั่งหลากหลาย เช่น ชะวากทะเล ป่าชายหาด ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล และพบนกชนิดสำคัญมากมายในบริเวณดังกล่าว
ด้านอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีแนวปะการังขนาดใหญ่ก่อตัวต่อเนื่องกันเป็นแนวปะการังริมฝั่ง เป็นแหล่งดำน้ำสวยงามและมีชื่อเสียง หมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติเขาลำปี- หาดท้ายเหมือง เป็นป่าชายหาดตามธรรมชาติที่เป็นผืนต่อเนื่องที่สมบูรณ์ที่สุดที่เหลืออยู่ในประเทศไทย และอาจเป็นแหล่งสุดท้ายบนภาคพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อุทยานแห่งชาติสิรินาถมีความเป็นธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เช่นกัน
โครงการแลนด์บริดจ์มีแผนพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกบริเวณอ่าวอ่าง ซึ่งครอบคลุมตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง และตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติแหลมสน และแม้จะอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติก็ตาม แต่ทรัพยากรสัตว์น้ำมีวงจรชีวิตที่จะเคลื่อนที่ไป อาจจะเป็นการกีดขวางเส้นทางการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำที่เป็นแหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำก่อนที่จะออกไปสู่ทะเลกว้าง
รวมถึงการหมุนเวียนของกระแสน้ำ และแร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ซึ่งเส้นทางตัดผ่านคาดว่าน่าจะตัดผ่านป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์ การสร้างเขื่อนกันคลื่น การถมทะเล พื้นที่ท่าเทียบเรือ ช่องเดินเรือ เป็นข้อมูลที่จะนำมาสู่ความเกี่ยวข้อง โดยการศึกษา EIA มีระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่จะใช้เวลาในการขออนุญาตเข้าศึกษาวิจัย จะใช้เวลา 35 วัน ในกรณีที่เอกสารครบถ้วน ซึ่งการศึกษาวิจัยต้องเก็บข้อมูลให้ครบวงรอบปีทุกฤดู รวมเวลา 1 ปี
โดยผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ สรุปได้ดังนี้
1. ท่าเรือที่มีการถมทะเลประมาณ 7,000 ไร่ รวมถึงเขื่อนกันคลื่น จะส่งผลกระทบต่อการขัดขวางการไหลเวียนน้ำ การเดินทางของสัตว์ทะเลที่เข้ามาหากิน วางไข่ในป่าชายเลน
2. ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศชายฝั่ง และนิเวศบริการ
3. ผลกระทบจากการขุดลอกพื้นที่ทะเลต่อการฟุ้งกระจายของโลหะหนักที่สะสมในชั้นดินตะกอน ออกสู่น้ำทะเล
4. โอกาสเกิดการรั่วไหลของน้ำมันจากการเดินเรือ ซึ่งยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด
5. ไม่มีความชัดเจนถึงเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนองไปยังท่าเรือ ว่ามีการออกแบบอย่างไร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าชายเลนระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร อย่างไร
6. ผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพิงทรัพยากรประมง
7. แนวทางก่อสร้างท่าเรือในจังหวัดระนองและชุมพร อาจจะมีกระทบต่อพื้นที่ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์ ประมาณ 4,800 ไร่ และเป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ดูแลและใช้ประโยชน์ทางอ้อมจากป่าร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตเข้าศึกษาวิจัย มีกระบวนการและใช้เวลา ประมาณ 30-35 วัน
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การดูแลเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการพื้นที่ชุ่มน้ำ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 มาใช้ประกอบการดำเนินโครงการ ซึ่งอนุสัญญาแรมซาร์เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาแรมซาร์ไว้
โดยมีการเข้าร่วมประชุมตั้งแต่ปี 2514 และมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเมื่อให้สัตยาบันเมื่อปี 2518 กำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากอนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ในปี พ.ศ. 2514 เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล
มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลกซึ่งจะต้องมีการจัดการเพื่อประโยชน์อย่างชาญฉลาด อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ ของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งหมด 15 แห่ง
โดยโครงการแลนด์บริดจ์ มีมาตรการที่เกี่ยวข้องของพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Site) ดังนี้
1. กรณีท่าเรือน้ำลึกด้านอ่าวไทย บริเวณจังหวัดชุมพร พบว่า พื้นที่โครงการอยู่ห่างจากพื้นที่ชุ่มน้ำอ่าวทุ่งคา-อ่าวสวี (อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร) ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ในระยะ 2 กิโลเมตร
2. กรณีท่าเรือน้ำลึกด้านทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดระนอง พบว่า พื้นที่โครงการอยู่ติดพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site)
3. แนวเส้นทางขนส่งระหว่างชุมพร-ระนอง มีบางส่วนอยู่ในระยะ 2 กิโลเมตร จากพื้นที่ชุ่มน้ำ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต้องปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 อย่างเคร่งครัด และบางส่วนไม่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ เป็นแรมซาร์ไซต์ลำดับที่ 1183 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ มีพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดที่เหลืออยู่ของประเทศไทย ได้รับประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลประเภทป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
ประกอบด้วยระบบนิเวศหลากหลาย ได้แก่ หาดเลน หาดทราย แหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และป่าชายเลนดึกดำบรรพ์ พบพรรณไม้รวม 361 ชนิด พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ 4 ชนิด ได้แก่ ปรงทะเล กระดังงาป่า นมแมว และจิกเล พบสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ ลิ่นชวา อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ ชะนีมือขาว เต่าตะนุ และเต่าเหลือง
มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ นากใหญ่ขนเรียบ พะยูน งูจงอาง พบปลาทั้งสิ้น 187 ชนิด ซึ่งมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 3 ชนิด ได้แก่ ปลาฉลามหูดำ ปลายอดจาก และปลาดุกอุย และชนิดที่ถูกคุกคาม 1 ชนิด คือ ปลากะรังปากแม่น้ำ พบปะการังชนิดเด่น เช่น ปะการังโขด ปะการังดาวใหญ่ และพบหญ้าทะเล เช่น หญ้าเงาแคระ หญ้าใบพาย หญ้าใบมะกรูด เป็นต้น
นอกจากนี้ ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติ และเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลประเภทป่าชายเลนแห่งแรกของโลก ซึ่งบริเวณอุทยานแห่งชาติแหลมสน – ปากแม่น้ำกระบุรี - ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง มีพื้นที่ 1,220 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นผืนใหญ่ที่สุดเหลืออยู่ของประเทศไทย
ทั้งนี้แรมซาร์ไซต์ มีพื้นที่ Core Zone แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่แพร่พันธุ์สัตว์น้ำเป็นพื้นที่ Core Zone หลัก และโซนใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ชาวบ้านเข้าไปใช้ยังชีพและเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ ในส่วนโซนพัฒนามีการใช้ประโยชน์อย่างเข้มข้นขึ้น มีการพัฒนามากขึ้นตามมาตรการที่ 9 ของมติคณะรัฐมนตรี ปี 2552
ส่วนทางด้านอ่าวทุ่งคา-อ่าวสวี มีพื้นที่กว่า 324 ตารางกิโลเมตร พบนก 124 ชนิด ที่ต้องอนุรักษ์ไว้ พบปลา 39 ชนิดที่ต้องอนุรักษ์ บริเวณนี้จะพบว่าโครงการระยะ 2 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องทำ EIA ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงเป็นเกาะพิทักษ์ และมีท่าเรือซึ่งจะทับแนวปะการัง ส่วนฝั่งอันดามัน ระยะห่าง 2 กิโลเมตร จะทับพื้นที่แรมซาร์ไซต์บางส่วนในส่วนเกาะพยาม แถวอำเภอเมืองระนอง ในเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ ากระบุรี-ปากคลองกะเปอร์
ดังนั้นในการดำเนินงานโครงการ เพื่อประโยชน์ในการดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงต้องนำมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามมติ ครม. ปี 2552 และ 2558 มาใช้ประกอบการดำเนินโครงการ และติดตาม ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดจากการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของพื้นที่ชุ่มน้ำการกีดขวางทางน้ำ อุทกวิทยา ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชนการเคลื่อนที่ของตะกอนสร้างผลกระทบทางด้านชายฝั่ง
ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า ประเทศไทยมีหญ้าทะเล 13 ชนิด ซึ่งหญ้าทะเลในจังหวัดชุมพรและระนองเป็นหญ้าขนาดเล็ก โดยโครงการจะมีการขุดลอก ทำให้เกิดการฟุ้งของตะกอนขึ้นมา หากมีเมล็ดพันธุ์ของหญ้าทะเลก็จะสามารถฟื้นฟูได้ ซึ่งหญ้าทะเลไม่สามารถฟื้นฟูได้ทุกชนิด
ส่วนการเดินเรือเข้าออกบริเวณทางทิศใต้ของประเทศไทย ผ่านจังหวัดภูเก็ต พังงา วิ่งตามแนวร่องน้ำมาทางทิศใต้ของเกาะพยาม จนถึงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์โดยจะผ่านมาทางทิศใต้ของเกาะพยามเท่านั้น แต่ไม่ผ่านหมู่เกาะสุรินทร์ที่จะออกไปทางอินโดนีเซีย ซึ่งเส้นทางนี้จะไม่ค่อยมีเรือใหญ่วิ่งผ่าน
ด้านปริมาณดินขุดและดินถมทะเลจะมีความสมดุลกัน เนื่องจากดินที่ขุดจะนำไปถมทะเล การถมทะเลจะขุดลอกร่องน้ำและนำดินที่ดีมาใช้ในการถมทะเลด้านบน ดินโคลนจะมาไว้ในพื้นที่บ่อตะกอน โดยปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีในการปรับปรุงดินเพื่อนำมาใช้ ส่วนหินที่นำมาใช้ในโครงการมีแหล่งหินจากจังหวัดชุมพร 170 ล้านตัน และแหล่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้หินปูน 170 ล้านตัน
ส่วนปูนซีเมนต์ มีแหล่งวัสดุ 2 แห่ง คือ ทุ่งสงและเพชรบุรี ที่นำมาใช้ในโครงการ ส่วนแหล่งน้ำในฝั่งระนอง มีการพัฒนาท่าเรือใน 3 ระยะ ซึ่งจากการประมาณการของการประปาส่วนภูมิภาค ทั้ง 3 ระยะอ่างเก็บน้ำหาดส้มแป้นมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อโครงการส่วนที่เป็นท่าเรือ
ส่วนฝั่งชุมพร ปัจจุบันการผลิตประปาสาขาหลังสวนไม่เพียงพอ แต่การประปาได้มีแผนปรับปรุงขยายการผลิตน้ำประปา 12,000 ลูกบาตรเมตร/วัน มีการจัดทำแผนการลงทุนในปี 2570 และให้บริการได้ในปี 2572 และพื้นที่โครงการท่าเรือ มีอ่างเก็บน้ำบ้านแหลมหญ้าสามารถพัฒนาแหล่งเก็บน้ำนี้มาเป็นการผลิตน้ำประปาได้ ซึ่งเป็นแผนระยะสั้น
รวมทั้งจากพื้นที่โครงการมีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ เขื่อนรัชประภา ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฯ หลังท่าในอนาคต
ต้องทำรายงานผลกระทบ EHIA
การรับฟังความคิดเห็นตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากมีพื้นที่ที่มีแนวโน้มหรือคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบนอกเหนือรัศมี 5 กิโลเมตร ก็จะทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นประเภทชนิดรุนแรง (EHIA)
สรุปผลการพิจารณา
การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์ในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันที่เป็นรอยต่อทางชีวภูมิศาสตร์แห่งหนึ่งของโลก และได้นำเสนอความเป็นมาของพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ที่เสนอเป็นมรดกโลก 6 แห่ง
รวมทั้งการดูแลเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการพื้นที่ชุ่มน้ำ ทั้งหมด 15 แห่ง และปริมาณดินที่ขุดลอกจะนำไปถมทะเล ประเด็นเหล่านี้ในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับผลกระทบและข้อห่วงใยที่อาจจะเกิดขึ้น หรือข้อพึงระวังที่คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อให้กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ในขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องวางแผนป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับมาเหมือนเดิม และให้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอนุรักษ์ได้ในอนาคต รวมถึงให้หาทางออกและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ได้ต่อไป