KEY
POINTS
ปัจจุบันภาครัฐได้เร่งรัดก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 ซึ่งยังพบว่าบางสัญญายังติดปัญหาการลงนามสัญญาทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนเดินหน้าต่อในระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้การเดินทางด้วยระบบรถไฟระหว่างประเทศในอนาคตสะดวกมากขึ้น
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนระบบรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร(กม.) วงเงิน 341,351 ล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างรอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
ทั้งนี้ตามแผนโครงการฯจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ก.พ.นี้ และดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 68 คาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนและลงนามสัญญาภายในเดือนมีนาคม-พฤศจิกายน 67 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 67 พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในเดือนธันวาคม 73
ขณะเดียวกันในเดือนก.พ.67 กระทรวงจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 ซึ่งเป็นการหารือร่วมกับฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อหาข้อสรุปการจัดทำรายงานผลดำเนินงานความคืบหน้าของโครงการและแนวทาง การขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จโดยเร็ว สามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพต่อไป
ส่วนการเวนคืนที่ดินไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 12,418 บาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินได้ ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการแล้ว เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ที่ถูกเวนคืน ช่วงนครราชสีมา - บ้านไผ่ จำนวน 195 แปลงและช่วงบ้านไผ่ - หนองคาย จำนวน 1,764 แปลง
รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ตามแผนโครงการฯจะแบ่งการประมูลเพื่อดำเนินการก่อสร้างเป็นไม่เกิน 10 สัญญา เนื่องจากที่ผ่านมาการประมูลแต่ละโครงการ ฯ มีการแบ่งออกหลายสัญญา ทำให้ผู้รับจ้างรายเล็กไม่สามารถเข้าร่วมประมูลงานได้ เพราะเป็นสัญญางานก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ในโครงการฯ ระยะที่ 2 ทางรฟท.มีความเห็นว่าควรขยายสัญญาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูลมากขึ้นสำหรับงานก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างรายเล็ก ซึ่งจะทำให้ผู้รับจ้างมีรายเล็กมีผลงานเพิ่มขึ้น
“บางสัญญาที่อยู่ภายในเมืองสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ต้องมีการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค,ท่อระบายน้ำและระบบไฟฟ้า รวมทั้งผู้บุกรุกที่อาศัยภายในชุมชนใหญ่ ส่งผลให้การรื้อย้ายต้องใช้ระยะเวลา"
ทั้งนี้การออกแบบรางของโครงการฯมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง(ชม.) ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหนองคาย ระยะทางรวม 609 กิโลเมตร (กม.) ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที
สำหรับแนวเส้นทางไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ตลอดระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) นั้น แบ่งการก่อสร้างเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กิโลเมตร (กม.) และทางรถไฟยกระดับ 171 กิโลเมตร (กม.) มีทั้งสิ้น 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่, สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย โดยจะมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีนาทา จังหวัดหนองคาย
อย่างไรก็ตามไฮสปีด ไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส) ที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย มีเส้นทางครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่มีความรวดเร็ว และความปลอดภัยให้ประชาชน รวมทั้งยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับ สปป.ลาว และประเทศจีนด้วย