สายด่วน สปสช. 1330 อัจฉริยะ ยกระดับรองรับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรค

27 ม.ค. 2567 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2567 | 05:30 น.

สายด่วน สปสช. 1330 อัจฉริยะ หลังมติบอร์ดเห็นชอบแผนพัฒนาสายด่วนเบื้องต้นจำนวน 7 ด้าน เพื่อยกระดับรองรับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกโรค หลัง กระทรวงสาธารณสุข นำร่อง 4 จังหวัด

สายด่วน สปสช. 1330 อัจฉริยะ เป็นสายด่วนที่ บอร์ด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  หรือ สปสช. เห็นชอบ “แผนพัฒนาสายด่วน 1330 อัจฉริยะ” รองรับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

จากกรณีที่ กระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. คิกออฟ ขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตามนโยบายของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยนำร่องเฟสแรก 4 จังหวัด คือ  

  • แพร่

  •  เพชรบุรี

  • ร้อยเอ็ด

  • และ นราธิวาส 

 

ล่าสุดบอร์ด  สปสช.ได้อนุมัติยกระดับสายด่วน สปสช.1330 

เบื้องต้นพัฒนาด้วยกัน 7 ด้านด้วยกัน เพื่อสนับสนุนนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ดังนี้

  • พัฒนาช่องทางการติดต่อรองรับ Multi-Channel ให้เข้าถึงและใช้งานระบบได้ง่ายขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา ลดเวลาให้บริการเฉลี่ย 5 นาทีต่อสาย
  • พัฒนาระบบการจัดการคิว ลดเวลารอสายเหลือน้อยกว่า 30 นาที
  • ระบบบันทึกและบริหารข้อมูลของผู้รับบริการ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นอย่างเป็นระบบ ง่ายในการติดตาม ติดต่อ และขอข้อมูลตนเอง
  • ระบบบริหารจัดการทีม ช่วยลดจำนวนเจ้าหน้าที่เหลือน้อยกว่า 25 คนต่อทีม
  • ระบบสนับสนุนการทำงานเชิงรุก มีความยืดหยุ่นของการแสดงผลและใช้งาน รองรับนโยบายเร่งด่วนได้
  • ระบบการวิเคราะห์และรายงานเชิงคุณภาพบริการที่เข้าถึงง่าย และ
  • ระบบมีมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด ปกป้องข้อมูลผู้รับบริการและการปฏิบัติตามกฎหมาย

สายด่วน สปสช. 1330  อัจฉริยะ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการพัฒนาระบบการจัดการสายด่วน สปสช. 1330 อัจฉริยะนี้ จะทำให้ประชาชนและหน่วยบริการรับบริการตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ได้อย่างเต็มที่ ผ่านการติดต่อได้หลายช่องทาง ทั้งยังสามารถติดตามผลผ่านการ Tracking หรือตรวจสอบสถานะขั้นตอนการดําเนินงาน เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของ สปสช. เอง ประโยชน์ที่ได้คือจะมีระบบสนับสนุนสายด่วน สปสช. 1330 บริการ 24 ชั่วโมง ที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และความพร้อมของการให้บริการยิ่งขึ้น เช่น ระบบโอนสาย ระบบจัดคิว ระบบบันทึก ระบบประมวลผลข้อมูล ระบบการวิเคราะห์และรายงานผล ระบบแจ้งเตือน และระบบ Customer Feedback รวมทั้งสามารถทำงานแบบสื่อสารผสม (IP Multimedia) ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับระบบสั่งการด้วยเสียงผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ และมีความปลอดภัยในการรักษาข้อมูล.

 

ที่มา: สปสช.