ครม. ไฟเขียว 10 หน่วยงานตั้งงบก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 1.81 แสนล้าน

30 ม.ค. 2567 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 08:04 น.

ครม.ไฟเขียวหลักการตั้งงบผูกพันข้ามปี วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 10 หน่วยงาน ทั้งหมด 69 โครงการ มีวงเงินผูกพันข้ามปีงบประมาณรวมกันกว่า 1.81 แสนล้านบาท สั่งสำนักงบประมาณ และ สศช. กลั่นกรอง

วันนี้ (30 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเสนอขอการตั้งรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รวม 10 หน่วยงาน ทั้งหมด 69 โครงการ มีวงเงินผูกพันข้ามปีงบประมาณรวมกันกว่า 1.81 แสนล้านบาท ซึ่งจะผูกพันงบตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ที่ประชุมครม.ได้รับทราบข้อเสนอของทั้ง 10 หน่วยงาน โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาว่า งบผูกพันทั้งหมดที่เสนอเข้ามาเป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

“ครม.สั่งการให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปทบทวนข้อเสนอต่าง ๆ ว่า งบผูกพันที่เสนอมาทั้ง 69 โครงการ วงเงิน 1.81 แสนล้านบาท ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยเหตุผล และชอบด้วยนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาด้วยหรือไม่”

 

ครม. ไฟเขียว 10 หน่วยงานตั้งงบก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 1.81 แสนล้าน

 

นายชัย กล่าวว่า ตัวอย่างของโครงการที่เสนอของบผูกพันเข้ามา เช่น กระทรวงคมนาคม เสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 รวม 42 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 รวมวงเงิน 91,653.3 ล้านบาท โดยมีวงเงินที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ก่อนวงเงิน 15,627.9 ล้านบาท
สำหรับโครงการของกระทรวงคมนาคมทั้งหมดนั้น แยกเป็น 

กรมทางหลวง (ทล.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 37 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2571 วงเงินรวม 69,877.7 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 35 โครงการ วงเงินรวม 66,027.7 ล้านบาท
  • แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2 โครงการ วงเงินรวม 3,850 ล้านบาท มีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 13,975.5411 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 3 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2570 วงเงินรวม 4,920 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 984 ล้านบาท

กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานชุมพร ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2571 วงเงินรวม 1,500 ล้านบาท 

แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2568 : 300 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 : 300 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 : 450 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 : 450 ล้านบาท

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการเช่ารถโดยสารประจำทางปรับอากาศพลังงานสะอาด (EV) ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2568-2575 วงเงินรวม 15,355.6 ล้านบาท 

แบ่งเป็นปีงบประมาณ 2568 : 368.4 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2569 : 2,219.2 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2570 : 2,219.2 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2571 : 2,225.2 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2572-2575 : 8,323.5 ล้านบาท

 

ครม. ไฟเขียว 10 หน่วยงานตั้งงบก่อหนี้ผูกพันข้ามปี 1.81 แสนล้าน

 

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ครม.เห้นชอบหลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2 โครงการ จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น  3,390.41 ล้านบาท ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

  1. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 1,767.25 ล้านบาท
  2. โครงการก่อสร้างเรือนจำจังหวัดยโสะร พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบตำบลสำราญ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร จำนวนเงิน 1,623.16 ล้านบาท