วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2567) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งอาณาจักรไทยและกรมศุลกากรและสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ทั้งนี้ จะมีการลงนามและรับรองร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
น.ส.เกณิกากล่าวว่า สำหรับร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.กำหนดให้คู่ภาคีจะต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าในขั้นตอนของการผ่านแดน โดยสินค้าผ่านแดนนั้นเป็นของที่ไม่ต้องชำระอากรหากได้ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่มีการผ่านแดนอย่างครบถ้วน แต่ประเทศภาคีสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาระที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหรือค่าบริการอื่น ๆ ได้
2.สินค้าต้องห้ามและสินค้าต้องกำกัดในการผ่านแดนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดระหว่างประเทศภาคีทั้งสองฝ่ายหรือข้อห้ามข้อกำกัดเกี่ยวกับสินค้าผ่านแดนของประเทศที่มีการผ่านแดน เช่น ความมั่นคง การปกป้องคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์
3.สินค้าผ่านแดนจะต้องขนส่งผ่านที่ทำการพรมแดนที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของร่างบันทึกความเข้าใจฯ และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาคผนวกดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างคู่ภาคี ทั้งนี้ เส้นทางภายในประเทศสำหรับการขนส่งสินค้าผ่านแดนจะถูกกำหนดโดยภาคีแต่ละฝ่าย
4.ข้อพิพาทใดที่เกิดขึ้นจากการตีความร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องมีการเจรจาอย่างฉันมิตรระหว่างหน่วยงานผู้มีอำนาจของภาคีตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งสองฝ่าย
5.การแก้ไขหรือเพิ่มเติมร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยภาคีอีกฝ่ายจะต้องตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่เสนอมาทั้งหมดจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย
6.ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามและให้มีผลบังคับใช้โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด
7.ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรระบุวันที่เสนอจะยกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่าย โดยให้แจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะยังมีผลบังคับใช้ในการดำเนินการ หรือการทำข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ก่อนวันที่ยกเลิกร่างบันทึกความเข้าใจฯ
แหล่งข่าวที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ยังมีมติเห็นชอบร่างความร่วมมืออีกจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และความร่วมมือด้านความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ ของกระทรวงมหาไทย โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย
แหล่งข่าวอธิบายขยายความถึงร่างความร่วมมือด้านความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติว่า เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกรณีมีเหตุการณ์ภัยพิบัติ รวมถึงระบบกลไกประสานงาน ยกตัวอย่างเช่น การประสานงานเมื่อเกิดภัยพิบัติบริเวณชายแดน การแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม.ไม่มีการพูดถึงการเจรจาการตกลงผลประโยชน์บริเวณพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 7 ก.พ. 67 นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยมีกำหนดการเข้าพบกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ทำเนียบรัฐบาล