KEY
POINTS
การเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และภริยา ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ นับเป็นหนึ่งในการเดินทางเยือนเพื่อสานความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน ภายหลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกัมพูชา อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
การเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้ มีวาระน่าสนใจต้องติดตามหลายประเด็น ถ้าไม่นับเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ยังมีประเด็นใหญ่อีกเรื่องนั่นคือ การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas – OCA) ซึ่งต้องจับดูว่า จะหยิบยกประเด็นร้องนี้ขึ้นมาหารือด้วยหรือไม่
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ เบื้องต้นทางกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้มีการเตรียมข้อมูลรายละเอียดเบื้องต้นของการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ไว้แล้ว
พร้อมกันนี้ยังได้รายงานไปยังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รับทราบเรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาหารือในด้านใดก่อนหรือไม่ และรัฐบาลไทยก็ต้องรอดูท่าทีของกัมพูชาด้วย
ขณะเดียวกันในขั้นตอนการขับเคลื่อนการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ณ ตอนนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังต้องรอฟังท่าทีของทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เกี่ยวกับการพิจารณารายละเอียดของการดำเนินการเรื่องนี้ด้วยว่าสามารถดำเนินการไปในทิศทางใดบ้าง คาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้
สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทยกับการขับเคลื่อนเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญนั้น ไม่นานมานี้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เคยระบุว่า เรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มีการหารือแน่นอน แต่คงจะไม่มีการยกขึ้นมาพูดคุยกันบนโต๊ะ เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว โดยจะมีการหารือกันต่อไป ซึ่งถือเป็นการพัฒนาร่วมของสองประเทศที่จะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนรายละเอียดการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชานั้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งรายละเอียดว่า การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ นับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งเป็นโอกาสในการขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันของไทยและกัมพูชา
โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน การเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองประเทศ
สำหรับกำหนดการสำคัญของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้แก่ การพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี การร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยกับกัมพูชา เบื้องต้นมีร่างเอกสารบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ที่จะลงนามอย่างน้อย 3 ฉบับ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 แล้ว 3 เรื่อง ประกอบด้วย
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า ในการการพบหารือทวิภาคีของนายกรัฐมนตรีไทย และกัมพูชานั้น ทั้งสองประเทศจะหารือความร่วมมืออย่างน้อย 8 ประเด็น คือ ประเด็นอาเซียน ประเด็นการค้า ประเด็นแรงงาน ประเด็นการพัฒนาและการท่องเที่ยวชายแดน ประเด็นความร่วมมือเรื่องหมอกควันข้ามแดน ประเด็นความร่วมมือเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ประเด็นการบริหารจัดการภัยพิบัติ และประเด็นวัฒนธรรมและการเฝ้าระวังข่าวลวง
จากนั้นนายกฯ ทั้งสองประเทศจะมีการแถลงข่าวร่วม และจบด้วยงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันอย่างเป็นทางการซึ่งนายกรัฐมนตรีและภริยาเป็นเจ้าภาพ รวมไปถึงการพบหารือกับประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา รวมทั้งการเป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนาภาคธุรกิจไทยและกัมพูชาต่อไป
สำหรับข้อมูลการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การค้าระหว่างประเทศของไทย กับ กัมพูชา ในปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 277,425 ล้านบาท ลดลง 18.39% จากปีก่อนที่มีมูลค่าการค้า 339,945 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออก 221,781 ล้านบาท การนำเข้า 55,643 ล้านบาท โดยไทยเกินดุลการค้า 166,137 ล้านบาท