เจาะลึกความต่าง "ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฉบับใหม่" ห้ามบริโภคเพื่อสันทนาการ

08 ก.พ. 2567 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 05:34 น.

เจาะลึก ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับใหม่ "หมอชลน่าน" ปิดตาย ห้ามใช้เพื่อการสันทนาการ เน้นย้ำใช้ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น  

ฐานเศรษฐกิจ ยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข โดยล่าสุดนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในการประชุมสัปดาห์หน้า

ถึงตอนนี้เชื่อว่ามีหลายคนที่กำลังสงสัยว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯฉบับใหม่นี้มีความเหมือน หรือ แตกต่าง จากร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของพรรคภูมิใจไทยที่เคยมีการพิจารณาในสภาก่อนหน้านี้หรือไม่เหมือนหรือต่างกันตรงไหน อย่างไร 

ทั้งนี้ สำหรับร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชาฉบับของ พรรคภูมิใจไทย ที่พยายามผลักดันนโยบาย "กัญชาเสรี" ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาโดยได้ปิดรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ขณะที่ร่างของ กระทรวงสาธารณสุข นำโดยนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เตรียมชงเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณา

เมื่อดูรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ทั้ง 2 ฉบับแล้ว พบว่า ร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ของกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้ปรับเปลี่ยนไปจากร่างฉบับของพรรคภูมิใจไทยในหลายประเด็น นอกจากจะตัดให้เหลือเพียง 76 มาตราจากทั้งหมด 94  มาตราแล้ว ในร่างกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ประเด็นที่แตกต่างไปจากร่างของพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด คือ เรื่องของการใช้ "กัญชาเพื่อการสันทนาการ"

โดยในร่างของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ระบุชัดเจนว่า "ห้ามบริโภคกัญชาเพื่อการ "สันทนาการ" แม้กระทำเพียงคนเดียวก็มีโทษทางอาญา

ในร่างฉบับใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดความหมายของคำว่า "การสันทนาการ" ซึ่งปรากฎอยู่ในมาตรา 4 ระบุว่า การสันทนาการ หมายความว่า "การกระทำเพื่อความบันเทิง รื่นรมย์ไม่ว่ากระทำคนเดียวหรือหลายคน"

เมื่อผนวกเข้ากับมาตรา 45 ที่ระบุว่า "ห้ามผู้ใดบริโภคกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อการสันทนาการ" จึงอาจกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ ห้ามการใช้แบบสันทนาการ ซึ่งนายแพทย์ชลน่าน ก็ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการปรับจาก พ.ร.บ.กัญชงกัญชาจากวาระสภาในสมัยที่ค้างอยู่ โดยปรับแก้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่ต้องการให้กัญชาสามารถใช้เพื่อทางการแพทย์และสุขภาพ ถ้าจะนำไปใช้ประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ถือว่า เป็นการนำมาใช้ผิดประเภท

เจาะลึกความต่าง \"ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฉบับใหม่\" ห้ามบริโภคเพื่อสันทนาการ

ในขณะที่ร่างของ "พรรคภูมิใจไทย" แม้ว่าจะไม่มีคำว่า "สันทนาการ" หรือ "นันทนาการ" ปรากฎให้เห็นชัดเจนแต่ในมาตรา 4 ใช้คำว่า "การใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในครัวเรือน" หมายความว่า การเพาะ ปลูก เพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในที่อยู่เดียวกัน ทั้งนี้ ไม่เกินปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง

นอกจากนี้ยังมีการเขียนในลักษณะที่ว่า กรณีที่จะอนุญาตให้มีการ "นันทนาการ" ในเชิงธุรกิจ เช่น เปิดร้านแล้วไปสูบจะต้องออกประกาศในลักษณะทำของการกำหนดจัดเป็นโซนนิ่งโดยไปออกเป็นกฎกระทรวง  

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับใหม่ของ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนผู้อนุญาตจาก "เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา" เป็น "อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก" ทั้งยังกำหนดให้การเพาะปลูกกัญชา-กัญชง ตามร่างของกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นการขอใบอนุญาตเท่านั้น ต่างจากร่างของพรรคภูมิใจไทยที่ใช้ การขอจดแจ้งการเพาะปลูก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หากดูร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต่างมีเป้าหมาย ยึดหลักการณ์เหตุผลเดียวกัน คือ การสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชง กัญชา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ