กทพ. ปลุกแผนสร้าง “ทางด่วนบางนา-อาจณรงค์” หนุนท่าเรือกรุงเทพ

09 ก.พ. 2567 | 06:58 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 07:04 น.

กทพ.จ่อถกกทท. สร้างทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เชื่อมท่าเรือกรุงเทพ วงเงิน 4.4 พันล้าน คาดได้ข้อสรุปต้นปีนี้ เล็งดึงกทท.ร่วมทุน 40% ลุ้นชงคมนาคม-ครม.ภายในปี 67 คาดตอกเสาเข็มเริ่มปี 68 หวังแก้ปัญหารถติดในพื้นที่ท่าเรือ

KEY

POINTS

  • กทพ.จ่อถกกทท. สร้างทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เชื่อมท่าเรือกรุงเทพ วงเงิน 4.4 พันล้าน
  • ชงคมนาคม-ครม.ภายในปี 67
  • คาดตอกเสาเข็มเริ่มปี 68 หวังแก้ปัญหารถติดในพื้นที่ท่าเรือ

ที่ผ่านมากทท.-กทพ.มีแผนดันโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ท่าเรือและพื้นที่บริเวณใกล้เคียง หากโครงการสามารถผลักดันได้ตามแผนจะช่วยให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น

 

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวม 4,445 ล้านบาท ที่ผ่านมาโครงการได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างเตรียมหารือกับกทท.ถึงการลงทุนโครงการฯร่วมกัน รวมทั้งแผนการส่งมอบพื้นที่ของกทท.ทั้งหมดให้กับกทพ. คาดว่าจะหารือร่วมกันได้ภายในต้นปี 2567

 

“ทราบว่าโครงการฯนี้เป็นที่ดินของกทท. ซึ่งมีผู้ใช้ประโยชน์และครอบครองที่ดินอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ปัจจุบันกทท.ยังติดปัญหาเรื่องแผนพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทำให้ต้องรอดูความชัดเจนจากนโยบายของกระทรวงคมนาคมก่อน หากได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากนั้นจะเริ่มสามารถส่งมอบพื้นที่โครงการฯได้”
 

ขณะเดียวกันโครงการฯจะต้องพิจารณารูปแบบการลงทุนด้วย ซึ่งโครงการต้องใช้งบประมาณราว 4,445 ล้านบาท หากกทพ.เป็นผู้ลงทุนฝ่ายเดียวคงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะจากการศึกษาโครงการพบว่าตัวเลขทางการเงินไม่ค่อยดี เนื่องจากปริมาณการจราจรไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ถ้าต้องการให้โครงการมีความคุ้มค่าเหมาะสมแก่กันลงทุน ทางกทท.ต้องเป็นผู้ลงทุนร่วมด้วย ประมาณ 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 40% ขณะที่กทพ.ลงทุนประมาณ 2,445 ล้านบาท คิดเป็น 60%

 

 “โครงการฯ กทพ.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้งบประมาณใดมาลงทุน คาดว่าจะใช้การกู้จากกองทุน TFFIF หรือการออกพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งการดึงเงินรายได้สะสมมาลงทุนก็สามารถแบ่งมาสมทบได้บ้าง ทั้งนี้ต้องพิจารณาแคชโฟลว์แต่ละปีด้วย เพราะกทพ.มีหลายโครงการที่ต้องลงทุน ซึ่งโครงการฯนี้จะเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนมาก เมื่อกทท.มีการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ บริเวณท่าเรือกรุงเทพ ส่งผลให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยปัญหาการจราจรติดขัดในโลจิสติกส์บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง”

 

 รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า หากหารือร่วมกับกทท.จนได้ข้อสรุปแล้ว หลังจากนั้นกทพ.และกทท.จะเสนอโครงการฯต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปี 2567 คาดว่าจะเริ่มประมูลหาผู้รับจ้างและดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568 ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยกทพ.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองรวมทั้งบริหารระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อทางพิเศษสายบูรพาวิถีและทางพิเศษฉลองรัช ทำให้กทพ.เป็นผู้รับสัมปทานเองทั้งโครงการฯและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

 

 “หากกทพ.เป็นผู้ลงทุนและบริหารโครงการด้วยตนเอง กทท.จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างไรนั้น มองว่ากทท.จะได้ประโยชน์ในทางอ้อม คือ การแก้ปัญหารถติดภายในท่าเรือ ส่งผลให้แผนการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะมีความน่าสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนต่างๆที่เข้ามา ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง”

ส่วนการจัดเก็บค่าผ่านทาง จากการศึกษาโครงการฯพบว่าจะจัดเก็บอัตราเดียวกับทางพิเศษเฉลิมมหานคร รถ 4 ล้อ 50 บาทต่อคัน รถ 6-10 ล้อ 75 บาทต่อคัน และรถมากกว่า 10 ล้อ 110 บาทต่อคัน คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 14,000 คันต่อวัน 

กทพ. ปลุกแผนสร้าง “ทางด่วนบางนา-อาจณรงค์” หนุนท่าเรือกรุงเทพ

สำหรับโครงการเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ มีพื้นที่โครงการอยู่บนถนนอาจณรงค์ในพื้นที่ของ กทท. และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) มีจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณเทอร์มินัล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ แนวสายทางจะเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) ไปตามแนวถนนอาจณรงค์ ข้ามคลองพระโขนงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นแนวสายทางจะแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับ S1 ในทิศทางไปทางพิเศษบูรพาวิถี และทิศทางไปทางพิเศษฉลองรัช 

 

นอกจากนี้โครงการยังมีด่านเก็บค่าผ่านทาง มี 4 จุด แบ่งเป็น 1.ด่านขาขึ้น บริเวณหน้าอาคารสำนักงาน ปตท.พระโขนง มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่อง, 2.ด่านขาขึ้น บริเวณประตูทางออกเทอร์มินัล 1 และ 2 มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 1 ช่อง, 3.ด่านขาลง บริเวณทางแยกต่างระดับอาจณรงค์ มีช่องเก็บค่าผ่านทาง 3 ช่อง และ 4.ด่านขาลง หรือด่านอาจณรงค์ 1 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มี 8 ช่อง โดยจะมีทางเชื่อมต่อเข้าท่าเรือกรุงเทพเป็น Ramp 1 ช่อง