นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน บสย. ปี 2566 ได้อนุมัติค้ำประกัน รวม 114,025 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ได้สินเชื่อ 99,298 ราย โดย 80% เป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SMEs ) รักษาการจ้างงาน รวม 855,087 ตำแหน่ง สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 470,388 ล้านบาท และสร้างสินเชื่อในระบบ 124,815 ล้านบาท
“ปัจจุบัน บสย.มีพอร์ตค้ำประกันสินเชื่อทั้งหมด 8 แสนล้านบาท จากช่วงก่อนโควิดมีพอร์ตค้ำประกันสินเชื่อทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท เรียกได้ว่าเราช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงวงเงินสินเชื่อได้เป็นจำนวนมากในช่วงโควิด และในปี 2566 นี้ ประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 5 ลำดับโดดเด่น ได้แก่ ภาคบริการ ภาคการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ ภาคเกษตรกรรม ภาคอาหารและเครื่องดื่ม และ 5. สินค้าอุปโภค-บริโภค”
นอกจากนี้ บสย.ได้ดำเนินโครงการแก้หนี้เอสเอ็มอี โดยช่วยผู้ประกอบการแก้หนี้ สะสมตั้งแต่ปี 2560- 2566 ช่วยลูกหนี้เข้าโครงการประนอมหนี้ จำนวน 19,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ปรับโครงสร้างสะสม 6,942 ล้านบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างปี 2565 (เริ่มเมษายน) จนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ บสย. ออกมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว “ผ่อนน้อย เบาแรง” ดอกเบี้ย 0% สามารถช่วยลูกหนี้กว่า 13,378 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 4,723 ล้านบาท
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2567 บสย.มีแนวคิดที่จะเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อจากธุรกิจน็อนแบงก์ หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ที่อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยน็อนแบงก์ดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
“ตอนนี้ บสย.ก็อยู่ระหว่างขอเรื่องแจ้งกระทรวงการคลังในการดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อน็อนแบงก์แพลตฟอร์ม ซึ่งปัจจุบันกฎหมายของบสย. สามารถดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อน็อนแบงก์ได้ แต่จะต้องเป็นน็อนแบงก์ที่สถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% เช่น บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด (card X) เป็นต้น”
ขณะเดียวกัน บสย.จะดำเนินงานภายใต้แนวคิด “TCG Fast-Forward Sustainable Credit Guarantee” ยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อ เชื่อมการบริการใหม่ เข้าถึงเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยวางเป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อไว้ที่ 115,600 ล้านบาท ผ่าน 2 โครงการหลักคือ 1.โครงการค้ำประกัน ที่ บสย. พัฒนาขึ้น อาทิ BI7 และ RBP วงเงิน 75,600 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรกไม่เกิน 5% วงเงิน 40,000 ล้านบาท
นายสิทธิกร กล่าวว่า บสย.ยังมีแผนที่จะสนับสนุนการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (ESG) ปัจจุบันบสย.มีพอร์ตสินเชื่อดังกล่าว 30% โดยวางเป้าหมายว่าปี 2571 จะสามารถค้ำประกันกลุ่มสินเชื่อดังกล่าวได้กว่า 70-80% ของพอร์ต
ทั้งนี้ บสย.ยังดำเนินมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน คือ “มาตรการปลอดดอกเบี้ย” ขยายเวลามาตรการ 3 สี (ม่วง เหลือง เขียว) “บสย. พร้อมช่วย” ผ่อนน้อย เบาแรง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องอีก 1 ปี และ“มาตรการปลดหนี้” ต่อยอด “มาตรการสีฟ้า” ปลดหนี้ ลดต้น 15%