โอกาสหรือความเสี่ยง เมียนมาบังคับเกณฑ์ทหาร คนหนีตายมาเป็นแรงงานไทย

16 ก.พ. 2567 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2567 | 05:18 น.

โอกาสหรือความเสี่ยง เมียนมาบังคับเกณฑ์ทหาร คนหนีตายมาเป็นแรงงานไทย : คอลัมน์เปิดมุมคิด ดร.ธนิต โสรัตน์ โดย... ดร.ธนิต โสรัตน์ อดีตเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา และรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3967

สงครามกลางเมืองเมียนมาเริ่มจากปฏิบัติการ “พี่น้องภราดรภาพ 1027” ผ่านมา 4 เดือนเศษ สัญญาณรัฐบาลตั๊ดมาดอว์ของ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ทำท่าเพลี่ยงพล้ำถูกกองทัพชาติพันธุ์รุกเสียพื้นที่สำคัญไปเกือบครึ่งประเทศ ที่สำคัญเสียกำลังทหารไปมากทั้งเสียชีวิต-บาดเจ็บ-หนีทัพ และเปลี่ยนไปร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ 

รัฐบาลย่างกุ้ง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร พลเมืองทุกคนชายอายุ 18-35 ปี และผู้หญิงอายุ 18-27 ปี ต้องเป็นกองกำลังทหารประจำการ การเกณฑ์ทหารของเมียนมามีการเข้าไปตามบ้านทั้งในเมืองและนอกเมือง โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่เมือง พะอัน มะละแหม่ง เมียวดี หากพบชายหญิงอายุตามเกณฑ์จับใส่รถไปฝึกทหารโดยไม่ได้รับเงินเดือน

ข้อมูลอินไซด์ ประชาชนเมียนมาขณะนี้ขวัญเสีย และรู้ว่า “มิน อ่อง หล่าย” แพ้แน่ 

พวกนักธุรกิจ-พ่อค้ารายใหญ่กำลังเตรียมตัวย้ายทรัพย์สิน และออกนอกประเทศ สินค้าอุปโภค-บริโภคขาดแคลนและแพง เนื่องจากเส้นทางถนนเชื่อมชายแดนเส้นทางการค้าสำคัญถูกตัดขาด เช่น ทางเหนือเมืองเล่าก์ก่าย-เมืองรุ่ยลี่ (จีน) ทางตะวันตกเส้นทางเมืองตามู-มณีปุระ (อินเดีย) อีกเส้นทางที่เชื่อมกับอินเดียด้านอ่าวเบงกอลรบกันหนัก กองกำลังกลุ่มอาระกันกำลังล้อม “เมืองชิตตเว” เมืองหลวงของรัฐยะไข่ 

ขณะที่เส้นทางขนส่งสินค้าหลักจากไทยไปมียนมา ถนนเชื่อมแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง ถูกกองกำลังกะเหรี่ยงยึดได้ จนไปถึงรัฐคะเรนนีติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เดิมกองทัพกะเหรี่ยง “BGF” ผู้นำคือ นายพลหม่องชิตตู่ อยู่ข้างย่างกุ้ง ได้ประกาศเป็นกลางไม่ร่วมกับรัฐบาลเมียนมา มีผลทำให้เส้นทางตะวันออกเชื่อมชายแดนไทย ตั้งแต่ กาญจนบุรี ไปจนถึง แม่ฮ่องสอน ถูกตัดขาด

เส้นทางชายแดนไทยจากชายแดนแม่สอด ไปเมืองย่างกุ้งถนนหลักถูกทำลาย ต้องอ้อมขึ้นเขาผ่านเส้นทางเก่าผ่าน “เมืองก่อกะเระ” เป็นเส้นทางเสี่ยงจากอุบัติเหตุและอยู่ในเส้นทางที่กำลังรบกัน

อีกทั้งต้องอ้อมและเสียค่าคุ้มครองทำให้ค่าขนส่งจากศูนย์ขนส่งเมียวดีไปเมืองย่างกุ้ง ค่าขนส่ง (รถ 22 ล้อ) ราคา 28,000 บาทเพิ่มเป็น 60,000 บาท 

และจากชายแดนไทยข้ามสะพานมิตรภาพไปศูนย์ขนส่งเมียวดีระยะทาง 16 กิโลเมตร มีด่านกะเหรี่ยง 5 ด่าน เสียภาษีเถื่อนเพิ่มจากคันละ 750 บาทเป็น 1,500 บาท ที่กล่าวทำให้ปริมาณสินค้าลดลง และค่าขนส่งที่สูงทำให้ราคาสินค้าในเมียนมาพุ่งสูง 

การเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมียนมา ทำให้คนหนุ่ม-สาวหากไม่หนีออกจากบ้าน ส่วนหนึ่งจะไปเข้ากับกองกำลังชาติพันธุ์ กลุ่มที่หนีส่วนใหญ่จะมุ่งเข้าไทยโดยติดต่อกับญาติ-เพื่อนที่ทำงาน ค่าใช้จ่ายแบบ “One Stop Service” คนละประมาณ 20,000 บาท เป็นราคารับ-ส่งถึงที่อยู่ในประเทศไทย จนถึง กทม. 

ปัจจุบันแรงงานเมียนมาถูกกฎหมายที่อยู่ในไทยมีประมาณ 2.374 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 76.2 ของแรงงานต่างด้าวรวมกันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แรงงานถูกกฎหมายเมียนมาเพิ่มขึ้น 5.74 แสนคน เข้ามาตาม MOU (มาตรา 59) ประมาณ 2.742 แสนคน และตามมติครม. จำนวน 2.099 ล้านคน ในจำนวนนี้ยังไม่รวมแรงงานเมียนมาผิดกฎหมายอีกนับล้านคน (บางข้อมูลระบุว่ามีมากกว่า 4 ล้านคน) 

                                 โอกาสหรือความเสี่ยง เมียนมาบังคับเกณฑ์ทหาร คนหนีตายมาเป็นแรงงานไทย

แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม-บริการ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตยางรถ, อุตสาหกรรมทำเสื้อผ้า, ทำงานในภาคก่อสร้าง, ประมง รวมถึงใช้แรงงานทั้งในร้านอาหาร-แรงงานยกเคลื่อนสินค้าในภาคโลจิสติกส์ ตลอดจนทำงานตามบ้านครัวเรือน 

แรงงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะทำงานในภาคเกษตรและปศุสัตว์ เช่น กรีดยางพารา, ตัดอ้อย, มันสำปะหลัง, เลี้ยงหมู-ไก่, ฟาร์มกุ้ง, งานในสวนผัก-สวนผลไม้ งานเหล่านี้ขาดแคลนคนและแรงงานไทยเลือกที่จะไม่ทำ แรงงานเมียนมาชอบทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ตามด้วยจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถือเป็นย่างกุ้งแห่งที่ 2 ในไทย ที่เหลือกระจายอยู่จังหวัดที่เป็นฐานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ฯลฯ

วิกฤตที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา ทำให้คนหนีข้ามเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ไทยต้องให้ความสำคัญกับแรงงานเมียนมา เนื่องจากเราเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Complete Aged Society) สัดส่วนคนสูงวัยสูงถึงร้อยละ 20 และอายุเฉลี่ยค่ามัธยฐานอยู่ที่ 40 ปีกับ 7 เดือน ซึ่งเป็นระดับคนวัยกลางคนทำให้ผลิตภาพแรงงานต่ำ และแรงงานขาดแคลน 

ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยยังเคลื่อนไปสู่ “AI” และ “Smart Technology” ได้ช้า จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานเข้มข้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม-บริการ และ เกษตรกรรม รัฐบาลต้องมีมาตรการและนโยบายแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด

แรงงานเมียนมาที่ทะลักเข้ามาทำอย่างไรจะนำมาใช้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งก็ดีกว่าการเปิดฟรีวีซ่าให้คนจีนและแรงงานสีเทาจีน แห่เข้ามาแย่งอาชีพ และ ค้าขายกินรวบเหลือแต่ก้าง มีแต่ธุรกิจอสังหาขายคอนโดที่จะรวยและได้ประโยชน์ ...