จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานเปิดงาน“Thailind Energy Exclutive Forum”และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ“จุดเปลี่ยนพลังงานไทยสู่ความยั่งยืน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการนำพลังงานจากเขตพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา ด้านจังหวัดตราดและจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ว่าจะทำให้ประเทศไทยใช้พลังงานที่ราคาถูกลง
จากเรื่องนี้ นายธิติเดช ทองภัทร รองประธานนิคมอุตสาหกรรมเกาะกง ประเทศกัมพูชา และผู้บริหารในกลุ่มแอล วาย พี(L.Y.P.Group) แสดงความมั่นใจว่า รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะสามารถสรุปข้อตกลงในการทำประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา ด้านจังหวัดตราดและจังหวัดเกาะกงได้ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีน้ำมันและก๊าซมูลค่ามหาศาลที่ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้หารือในเรื่องนี้มานาน
นายธิติเดช กล่าวอีกว่า ด้วยสถานการณ์บ้านเมือง และความสัมพันธ์ของรัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยไม่เอื้อกับการเจรจา จึงไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องนี้ได้ แต่กับรัฐบาลชุดนี้ที่มีสายสัมพันธ์มาตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และมาถึงรัฐบาลชุดนี้ น่าจะมีโอกาสที่ดีในการสานต่อข้อตกลงต่างๆในพื้นที่ทับซ้อนนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศทั้งสองได้ และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านพลังงานของทั้งสองประเทศให้มั่นคงขึ้นในอนาคต
ภาคเอกชนของกัมพูชาทั้งในจังหวัดเกาะกง และในประเทศกัมพูชา เห็นด้วยในเรื่องนี้ เพราะมองถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นทั้งในเรื่องราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซจะถูกลง และอาจไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศได้จำนวนมาก ส่งผลต่อรายได้ของประชาชนในประเทศ
แต่หากมองในระดับพื้นที่จังหวัดเกาะกง และจังหวัดตราด ที่เป็นพื้นที่ต้นทางของพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์มากเหมือนที่ได้ประเมินกัน เพราะอาจจะเป็นแค่ทางผ่านของพลังงานที่จะเชื่อมไปยังพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนา
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลของแต่ละประเทศ แต่ที่แน่ๆคือ ประชาชนทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์จากมูลค่าพลังงานมหาศาลในพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชานี้ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะฝั่งภาคเอกชนในกัมพูชาที่มองเห็นลู่ทาง และมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับบ้างแล้ว และรัฐบาลมีนโยบายวางแผนพัฒนาประเทศโดยใช้พลังงานในพื้นที่นี้แล้ว ตั้งแต่รัฐบาลของสมเด็จฮุนเซ็น และรัฐบาลชุดนี้ก็พร้อมสานต่อไป"
ขณะที่นางวิยะดา ซวง ผู้ประกอบธุรกิจด้านชายแดนไทยกัมพูชาด้านจังหวัดตราด และรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตราด กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนด้วยการนำพลังงานในทะเลมาใช้ใน 2 ประเทศย่อมทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจในจังหวัดตราดมากขึ้น เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
ส่วนการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศจะคึกคักมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้อำเภอคลองใหญ่จะเป็นประตูสู่การค้าระหว่างกัน เศรษฐกิจในอำเภอจะดีขึ้น มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เช่นกันแม้จะไม่ใช่ระบบที่ใหญ่โต นอกจากนี้ การเดินทางไปมาระหว่างกันจะทำให้เกิดการลงทุนในเรื่องของการขนส่งเพิ่มขึ้น ทั้งทางบกและทางทะเล สะพานท่าเรือคลองใหญ่อาจจะได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากเรื่องนี้ด้วย
ทางด้านการท่องเที่ยวแล้วน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าทุกด้าน เนื่องจากที่ผ่านมาอำเภอคลองใหญ่เป็นประตูสู่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ เป็นประตูที่นักท่องเที่ยวต่างชาติและกัมพูชาเดินทางเข้ามายังจังหวัดตราดและเที่ยวที่จังหวัดตราด ไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั้งในภาคตะวันออกและจังหวัดอื่น ซึ่งจะสร้างความคึกคักมากขึ้นด้วย