นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มาตรการที่รัฐบาลได้ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติปรับโครงสร้างภาษีอากรและภาษีสรรพสามิต สุรา และไวน์ เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 นั้น คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสัปดาห์นี้
ซึ่งมีเป้าหมายจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่รับประทานไวน์ และคาดว่าจะส่งผลให้กรมสามารถจัดเก็บภาษีไวน์ได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 900 ล้านบาท เดิม 1,500 ล้านบาท
"การลดอัตราภาษีไวน์มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวรับประทานอาหารกับไวน์ ซึ่งที่ผ่านมาภาษีไวน์มีอัตราการจัดเก็บสูง ขณะที่ราคาไวน์ในตลาดมีความหลากหลาย ทำให้มีการหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้น เมื่อมีการปรับอัตราภาษีอัตราใหม่ จะทำให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น"
สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเริ่มจากสินค้าไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น ปรับเป็นเหลืออัตราภาษีเท่ากัน 5% และปรับลดการจัดเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จาก 1,500 บาทต่อลิตร เหลือ 1,000 บาทต่อลิตร
ขณะที่ภาษีฟรุ๊ตไวน์ หรือไวน์ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่นบางส่วน จัดเก็บภาษีตามมูลค่าเหลือ 0% และภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ยังเท่าเดิม 900 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ มีการเพิ่มพิกัดภาษีใหม่ สำหรับสุราแช่พื้นบ้าน เช่น อุ กระแช่ สาโท ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี จากเดิมเก็บภาษีตามมูลค่า 10% ลดเหลือ 0% ขณะที่ภาษีปริมาณเก็บเท่าเดิม 150 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์ ส่วนสุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม เช่น โซจูที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ให้เก็บภาษีตามมูลค่าที่ 10% เท่าเดิม แต่ขึ้นภาษีปริมาณจากเดิม 150 บาทต่อลิตร เป็น 255 บาทต่อลิตร