นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยในโอกาสวันสถาปนากรมสรรพสามิต ครบรอบ 92 ปี ว่า กรมมีบทบาทสำคัญในการดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ดูแลพี่น้องประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ยั่งยืน โดยไม่ได้มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว กรมสรรพสามิตได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบาย ESG
สำหรับปี 2567 กรมสรรพสามิตยังมีแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ EASE Excise อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. ด้านนโยบาย ESG จะมุ่งเน้นนโยบายภาษีสรรพสามิตที่ส่งเสริมภาษีสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่
2. ด้านพัฒนาองค์กรสู่ความเป็นเลิศ จะมุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้ทำงานได้คล่องตัว (Agile ways of working) และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในอนาคต (Future Skills) เช่น AI และ Data Analytics รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรให้เก่ง ดี มีความสุข
3. ด้านพัฒนากระบวนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้มีมาตรฐาน (Standardization) เช่น การวางมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูล และวางมาตรฐานการปราบปรามผู้กระทำผิดเชิงรุกกับหน่วยงานปราบปรามที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการทบทวนกฏหมายภาษีสรรพสามิตที่บังคับใช้ในปัจจุบันหรือยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine)
4. ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการให้บริการแบบไร้รอยต่อ (End-to-end Service) เพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการได้รับความสะดวกและเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็ว เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีกับการให้บริการของกรมสรรพสามิต
ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้ดำเนินมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ ดำเนินมาตรการลดภาษีน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงระดับราคาน้ำมันสูงและได้ยกเว้นภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงผิดปกติอันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซียและยูเครน
นอกจากนั้น ยังดำเนินมาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานในอัตราก้าวหน้าตามปริมาณน้ำตาล ส่งผลให้ประชาชนบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลงและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้ง ได้ดำเนินมาตรการสรรพสามิตเพื่อสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Zero Emission Vehicle: ZEV) ตามมาตรการ EV 3.0 ส่งผลให้ในปี 2566 ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ ZEV จำนวน 76,739 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 646 เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในอาเซียน
”ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 21,677 คัน เติบโตจากปี 2565 ถึงร้อยละ 125 นอกจากนี้ เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องผลิตรถยนต์ EV ในไทยชดเชยและมาตรการส่งเสริมการลงทุนทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท“
ทั้งนี้ กรมดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์เพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดที่หลบเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต และนำแนวคิดกระบวนการออกแบบเชิงระบบ (design thinking) และ User Experience (UX) มายกระดับการให้บริการทางดิจิทัลของกรมสรรพสามิต