KEY
POINTS
ขณะที่โลกธุรกิจดูคาดเดาไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยความกังวลทางเศรษฐกิจทั่วโลก สงคราม และสภาพแวดล้อมภายใต้ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นโจทย์สำคัญของผู้ประกอบการที่จะต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการ และความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
"ธุรกิจภาคบริการ" มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เพราะมีสัดส่วนต่อ GDP ของโลก มากกว่าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมรวมกัน สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จาก 53% ในปี 2513 เป็น 67% ในปี 2564 และสร้างการจ้างงาน 50 % ของการจ้างงานทั่วโลก
ยังมีบทบาทการรอำนวยความสะดวกทางการค้าในห่วงโซ่อุปทานของโลกให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยเป็นตัวกลางในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ สร้างมูลค่าประมาณ 3.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าสองเท่าของการส่งออกบริการในฐานะสินค้าขั้นสุดท้าย ภาคบริการจึงเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อทั้ง "ผู้บริโภค" และ "ผู้ประกอบการ" ในยุคใหม่
แล้วธุรกิจจะเข้าถึงและเชื่อมโยงกับตลาดผู้บริโภคยุคใหม่ ในปี 2024 ได้อย่างไร? "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมข้อมูลที่จะครอบคลุมทั้งหมดไว้ด้านล่างนี้
Gen Z vs Gen Alpha
เริ่มกันที่ ผู้บริโภคยุคใหม่ ก็คือ Gen Z (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539-2554) และ Gen Alpha (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2567) คือคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงานไปจนถึงเด็กที่เกิดใหม่นั่นเอง เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีสัดส่วน 33.8 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดในไทย
คนรุ่นนี้ให้ความสำคัญกับคุณค่าและดึงดูดแบรนด์ที่เป็นของแท้ พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ กล้าหาญ และเป็นผู้สร้างเทรนด์มากมายบน TikTok , Instagram Reels และแพลตฟอร์มอื่น ๆ และยังต้องการแนวทางที่แตกต่างไปจาก บริษัท หรือธุรกิจในกลุ่ม Millennial (Gen Y คนยุคแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ใช้กูเกิลค้นหาข้อมูล และติดต่อสื่อสารด้วยสื่อสังคมสมัยใหม่) เล็กน้อย
คนรุ่นใหม่ที่ว่า มีความรู้ด้านเทคโนโลยี และมีมุมมองความคิดต่อสังคมเปิดกว้าง โดยคาดว่าจะมีกำลังซื้อมากกว่า 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะโตมากับ สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ชาวดิจิทัลเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่สร้างคุณค่าที่ชัดเจน มีส่วนร่วม และมีชุมชนออนไลน์ที่เข้มแข็ง เช่น มีความสนใจในสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เน้นการใช้สินค้ายี่ห้อที่มีชื่อเสียงแต่เน้นที่คุณค่าและความเป็นตัวตนที่หาไม่ได้ที่อื่น
ธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโตและสอดคล้องกับผู้บริโภค Gen นี้ คือ ธุรกิจบริการที่มีการส่งผ่านทางดิจิทัล (Digitally delivered services) รวมทั้งธุรกิจบริการทั้งหมดที่ให้บริการผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่การสตรีมเกมไปจนถึงการให้คำปรึกษาผ่านระบบทางไกล
ในปี 2565 มีมูลค่า 3.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 54 % ของการส่งออกบริการทั้งหมดของโลก มีการขยายตัว16 % ในปี 2564 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากความจำเป็นต้องมีการทำงาน การเรียน และการรับความบันเทิงผ่านระบบทางไกลทำให้มีการส่งออกบริการผ่านทางดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่าในปี 2565 จะชะลอตัว แต่ก็ยังขยายตัวอยู่ที่ 3 % ประกอบกับวิถีชีวิตและความสนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ธุรกิจบริการยังได้รับความนิยม
Baby Boomer vs Gen X
ในโลกดิจิทัลที่ต่างขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ออนไลน์ ธุรกิจจึงหันไปสนใจและจับกลุ่ม Gen Z เพราะเติบโตมากับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เกิด เเต่รู้หรือไม่ว่า ผู้บริโภค Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย อย่าง Baby Boomer (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489-2507) เเละ Gen X (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508-2523) คือ Gen ของวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีสัดส่วน 41.3 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดในไทย พวกเขาหันหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น
อย่าง Baby Boomer มีวิจัยหลายเเห่งที่ออกมาวิเคราะห์พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ตัวอย่างเช่น ผลการศึกษาของ Pew Research Center ปี 2021 ระบุว่า Baby Boomers อายุระหว่าง 50-64 ปี หันมาใช้ Facebook กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และอาจจะเป็นอัตราส่วนที่โตเร็วกว่าคนช่วงอายุอื่นด้วยซ้ำไป
Baby Boomer จึงเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีเวลาว่างมากขึ้น ชอบทำกิจกรรม และมีกำลังในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยใช้บริการ Facebook เป็นโซเชียลมีเดียหลักในการรับรู้ข่าวสารใหม่ ๆ จึงสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการทำการตลาดได้
Gen X มีจำนวนน้อยกว่าคนรุ่น Millennial หรือ Baby Boomer เเต่กำลังซื้อของ Gen X นั้นคิดเป็น 31% ของรายได้ในสหรัฐฯทั้งหมด และรายได้โดยเฉลี่ยของคนรุ่นนี้ก็สูงกว่ารายได้เฉลี่ยของทั้งประเทศ Gen X มักใช้งานช่องทางโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง โดย 95% ใช้ Facebook, 35% ใช้ LinkedIn และ 25% โพสต์บน Twitter เป็นประจำ
เเละยังเป็นช่วงวัยกลางคนที่ต้องมีการวางแผนเกษียณหลังการทำงาน วางแผนเรื่องสุขภาพและประกันชีวิต
ธุรกิจบริการที่มีแนวโน้มเติบโตและสอดคล้องกับผู้บริโภค
ธุรกิจบริการที่เหมาะกับผู้บริโภคในสองช่วงวัยนี้อาจเน้นที่ "ธุรกิจบริการสุขภาพ" นอกจากจะเป็นการให้บริการรักษาแล้ว อาจมีการให้บริการบำรุงร่างกายและจิตใจผ่านกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่าง ๆ
ธุรกิจบริการสุขภาพที่น่าสนใจ อาทิ โทรเวช หรือ การแพทย์ทางไกล (telemedicine) เป็นหนึ่งในการให้บริการทางการแพทย์ยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารประกอบกับการให้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่น่าสนใจ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ร่วมกับประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล คิวบา อินเดีย จอร์แดน มาเลเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และ UAE จึงเป็นโอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ธุรกิจประกันภัยและบำเหน็จบำนาญก็เป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจของ Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2548-2565 เพิ่มขึ้น 6 %
จากแนวโน้มของธุรกิจบริการในปัจจุบันเเละพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
"กระทรวงพาณิชย์" มีแนวทางส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้พัฒนาตามแนวโน้มธุรกิจบริการที่สามารถรองรับกับผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งเด็ก Gen ใหม่ และ Gen ผู้ใหญ่ทันสมัย โดยมีสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) รวมทั้งมีการอบรมออนไลน์ทางเว็บไซต์ DBD Academy ผู้ประกอบการสามารถใช้ช่องทางเหล่านี้ในการหาข้อมูล ความรู้ และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาตนเองและธุรกิจต่อไป