นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศ 8 วิสัยทัศน์ (22 ก.พ. 2567) ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ได้แก่ 1.ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว 2.ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ 3.ศูนย์กลางเกษตรและอาหาร 4.ศูนย์กลางการบิน 5.ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค 6.ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7.ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และ 8.ศูนย์กลางทางการเงิน โดยทุกวิสัยทัศน์ ได้กำหนดแผนงานและเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนที่จะขับเคลื่อนนับจากนี้เพื่อให้ไทยเป็นที่ 1 ของอาเซียนในทุกด้าน
สอดรับกับที่รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยให้กลับมาขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 5% จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีไทยขยายตัวเฉลี่ยไม่เกิน 3% ต่อปี รั้งท้ายเพื่อนบ้านย่านอาเซียนที่ส่วนใหญ่โตระดับ 5% ขึ้นไปต่อปี ผลพวงจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมายังพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลัก (สัดส่วนมากกว่า 60% ของจีดีพี) ซึ่งในไส้ในภาคการผลิตและส่งออกของไทยขีดความสามารถในการแข่งขันเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ธนาคารแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ได้หยิบยกปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขึ้นมาอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยคณะกรรมการ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงปลายปี 2566 โดยหลักมาจากภาคการส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ที่ชะลอลง เนื่องจากอุปสงค์สินค้าโลกและคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวช้า
ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกและการผลิต ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับตํ่าลงแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีวันพักเฉลี่ยน้อยลง ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อทริป ลดลง และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงมากเป็นพิเศษในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.0% ในปี 2567
สำหรับปัญหาเชิงโครงสร้างถือเป็นประเด็นสำคัญ เพราะกดดันภาคการส่งออกและภาคการผลิตมาเป็นเวลานาน ส่งผลชัดเจนขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยกลุ่มสินค้าส่งออกกว่า 70% ที่ฉุดรั้งมูลค่าการส่งออกใน ปี 2566 มาจากสินค้าที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น หมวดปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนที่ต้องการเพิ่มอุปสงค์(การผลิต)ในประเทศ ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ
ส่วนสินค้า hard disk drive ที่ สูญเสียตลาดให้กับ solid state drive ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ผู้ประกอบการในไทยยังไม่มีความสามารถในการผลิต ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ย 4% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตํ่ากว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่ขยายตัว 37% 14% และ 10% ตามลำดับ นอกจากนี้สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวไทยลดลง ล่าสุดอยู่ที่ 13% จาก 25% ในปี 2546
นอกจากนี้ การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศของไทยถูกกระทบจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเช่นกัน สะท้อนจากสัดส่วนสินค้านำเข้าต่อการบริโภคภาคเอกชนของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจาก 17% มาอยู่ที่ 24% ในปี 2566 โดยการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 5% มาอยู่ที่ 9% ดังนั้น กนง.เห็นว่า ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความท้าทายมากขึ้น และมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัว และภาครัฐเองต้องมีนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก สัดส่วน 60% ของจีดีพี ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศก็พึ่งพิงการบริโภคเป็นหลัก ภาคการลงทุนที่มีความสำคัญมากมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลง ขณะที่การผลิตภาคเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 11% ในปี 2548 เหลือ 9% ในปี 2565
ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็มีสัดส่วนต่อจีดีพีลดลงจาก 30% เหลือ 27% ขณะที่ภาคบริการมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 59% เป็น 61% แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิต ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศลดลง ขณะที่ 20 ปีที่ผ่านมาไทยเน้นการสร้างรายได้จากภาคบริการที่มาจากค้าส่งค้าปลีก และการท่องเที่ยว เป็นหลัก
“ถามว่า ณ ปัจจุบันโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ได้ปรับเปลี่ยนไปจาก 10 ปีที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหน ปัญหาอุปสรรคเกิดจากอะไรบ้าง แยกได้ดังนี้ 1.ภาคการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวลดลง สะท้อนให้เห็นว่าไทยขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคการผลิต 2.ภาคการผลิตตามเทรนด์ของโลกไม่ทัน รวมถึงการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมที่เน้นสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภาคการผลิตไทยมีมูลค่าไม่เพิ่มขึ้นมากนัก และ 3.แม้ว่าภาคการส่งออกจะมีสัดส่วนต่อจีดีพีมากสุด แต่ศักยภาพการแข่งขันเทียบกับประเทศคู่แข่งตํ่าสุด”
ปัจจุบันสินค้าส่งออกไทยในภาพรวมอยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพการแข่งขันตํ่าสุด โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับบราซิล แอฟริกาใต้ เม็กซิโก และอินเดีย ส่วนกลุ่มที่มีความสามารถการแข่งขันสูง ได้แก่ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงสุดเป็นของสิงคโปร์
ทั้งนี้เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวและภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างสู่ยุคใหม่ (NEW ERA) เพื่อสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ และสอดคล้องกับทิศทางของโลก มีข้อแนะนำภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.รัฐบาลต้องเร่งนำร่องกลุ่มอุตสาหกรรม อนาตตเป้าหมาย เช่น อาหาร แห่งอนาคต ยางพาราแห่งอนาคต เป็นต้น 2.การลงทุนของต่างชาติ (FDI) ที่เข้ามาต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้ประกอบการไทย
3.กำหนดให้มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ สำหรับ FDI ที่เข้ามา 4. FDI ที่เข้ามาเน้นจุดแข็ง คือ ผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว ผลไม้ 5.ผู้ประกอบการรายใหญ่ ควรช่วยรายเล็ก เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และ 6.บริษัทรายใหญ่ต่างประเทศ ต้องพัฒนาร่วมกับภาคเกษตรไทย เช่น ในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา เป็นต้น
“อุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-curve ที่มองว่ามีอนาคตและสอดคล้องกับความต้องการภายในและตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่ทันสมัย ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม เช่น ข้าวคาร์บอนตํ่า ยางพาราคาร์บอนตํ่า นํ้ามันปาล์มชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ชัดเจน และกิจกรรมที่ทำก็ยังไม่ชัดเจนในการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถปรับตัวได้ แต่เกษตรกร และ SMEs ยังติดล่มการพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่มีนวัตกรรม และสร้างมูลค่าเพิ่ม”
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า หากภาคการผลิต ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องบรรลุผลตามข้อเสนอแนะ มองว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 5% ต่อปีขึ้นไปภายในไม่เกิน 5 ปี และไทยจะสามารถก้าวผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ภายใน 10 ปี
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยช่วงที่ผ่านมา สินค้าหลักยังอยู่ในกลุ่มยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมาก รวมถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และในภาพรวมโครงสร้างการส่งออกก็ยังไม่เปลี่ยนไปจาก 10 ปีที่ผ่านมามากนัก โดยปี 2566 ล่าสุด สินค้าส่งออกยังอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมสัดส่วน 78% สินค้าเกษตร 9% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 8% ที่เหลือเป็นสินค้าแร่และเชื้อเพลิง
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยต้องมุ่งสู่สินค้าที่ใช้พลังงานสะอาด ตอบโจทย์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม รักสุขภาพ และรองรับโลกยุคดิจิทัล ซึ่งเวลานี้กำลังเร่งปรับตัว เช่น มุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์อัจริยะ อาหารแห่งอนาคต เกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการผลักดันอย่างจริงจัง
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า 1 ใน 8 วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศล่าสุด คือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค (Aviation Hub) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งทอท.ได้เตรียมความพร้อมในการยกระดับการให้บริการ โดยอัพเกรดการให้บริการของสนามบินต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และรองรับดีมานด์การเดินทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นหน้าด่านหลักในการเดินทางเข้าประเทศ ปัจจุบัน ทอท.ได้สั่งซื้อเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ Auto channel เพิ่ม 80 ชุด วงเงิน 560 ล้านบาท เพื่อทดแทนของเดิมที่มีอยู่ 8 ชุด และติดตั้งเพิ่ม จะเริ่มติดตั้งระบบในเดือนกรกฎาคมและเปิดใช้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารขาออกทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มจาก 6,200 คน/ชั่วโมง เป็น 8,800 คน/ชั่วโมง ส่วนขาเข้าก็จะใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ ทอท.จะเพิ่มคนอีก 200 คน ซึ่งเป็นการจ้างชั่วคราวสัญญาปีต่อปี เพื่อบริหารจัดคิวและแนะนำการใช้ระบบอัตโนมัติ พร้อมเริ่มงานในเดือนเมษายนนี้ ขณะที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม.จากการหารือจะเพิ่มคนอีก 200 คน และมีแผนจะปรับปรุงระบบบริหารจัดการทั้งหมด จะแล้วเสร็จและเปิดใช้ภายในปี 2569
รวมถึง ทอท.ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ในระยะ 10 ปีข้างหน้า (ปี 2568-2578) ที่จะเพิ่มการรองรับสูงสุดจากเดิม 120 ล้านคนต่อปี เป็น 150 ล้านคนต่อปี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก การพัฒนาส่วนต่ออาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ และหรือการพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ซึ่งที่จะเห็นพื้นที่เพิ่มขึ้นได้ก่อน คือ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสาร ด้านทิศตะวันออก จะเปิดประมูลในเดือนพฤษภาคมนี้ ลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปีครึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีก 15 ล้านคน/ปี เป็นต้น
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3969 วันที่ 25 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567